เสวนานุกรมความรู้ "จีนตะวันตก: โอกาสใหม่ทางธุรกิจ"
  2014-10-24 16:30:12  cri

ภาคตะวันตกของจีนมีสัดส่วนพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 5.4 ล้านตารางเมตร มีจำนวนประชากรมากกว่า 366 ล้านคน จีนตะวันตกประกอบด้วย 6 มณฑล ได้แก่กานซู, กุ้ยโจว, ชิงไห่, ส่านซี, เสฉวนและยูนนาน, เขตปกครองตนเอง 5 เขต ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี, เขตปกครองตนเองมองโกเลีย, เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย, เขตปกครองตนเองทิเบต, เขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง และหนึ่งมหานครอันได้แก่ มหานครฉงชิ่ง

ด้วยความตระหนักถึงการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของนครฉงชิ่งและพื้นที่ทางภาคตะวันตกของจีนอันเป็นผลมาจากแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่ จนทำให้จีนตะวันตกมีศักยภาพและเป็นฐานการค้า-การลงทุนของต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพจึงจัดเสวนานุกรมความรู้ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "จีนตะวันตก โอกาสใหม่ทางธุรกิจ" ณ ห้องประชุมชั้น 30 อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา

งานเสวนานุกรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยมากล่าวปาฐกถาพิเศษ รวมถึงวิทยากรผู้ร่วมเสวนาที่ทรงคุณวุฒิอย่างศ.หม่า สือเฮิง ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจเขตปกครองพิเศษฮ่องกง, ศ. หวังหรง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผอ.สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหาสมุทรอินเดีย มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการเงินยูนนาน, นายเกา จื้อข่าย ผอ.สมาคมนานาชาติศึกษาแห่งชาติและที่ปรึกษาคณะกรรมการที่ปรึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กลุ่มมาสเตอร์การ์ด และดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองทางธุรกิจ โอกาสและแนวทางการเข้าไปทำธุรกิจ การค้าและการลงทุนในจีนตะวันตกให้ประสบความสำเร็จ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้กล่าวเปิดต้อนรับเปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ของจีนตะวันตกเมื่อปีที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจขยายตัว 13% ในขณะที่จีนโดยรวมขยายตัว 7.7% และยกตัวอย่างนครฉงชิ่ง ที่ซึ่งธ.กรุงเทพเลือกไปเปิดสาขาในจีนล่าสุดเป็นตัวอย่างสำหรับโอกาสในการพัฒนา

ด้านนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเปิดเผยถึงประสบการณ์ของตนในการเยือนจีนตะวันตกครั้งล่าสุดว่า ได้ไปเยือนชิงไห่และกุ้ยโจวมาพบว่าการเจริญพัฒนาซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้นั้นเกิดขึ้นมาจากการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมของกุ้ยโจวที่เคยล้าหลังปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปมากอย่างน่าประทับใจ มีทางด่วนเกิดขึ้นมากมาย ในขณะที่ GDP ของเมืองก็มากกว่า GDP โดยเฉลี่ยของทั้งประเทศ

การเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงความยาว 2,485 กิโลเมตรเชื่อมต่อระหว่างปักกิ่งและหนานหนิงทำให้ย่นระยะเวลาการเดินทางจาก 30 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 13.5 ชั่วโมงเท่านั้น

ยุทธศาสตร์ Go West ของรัฐบาลจีนเกิดขึ้นในปีค.ศ. 2001 เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างจีนตะวันตกและจีนตะวันออก ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ออกนโยบาย "เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม" เพื่อแบ่งปันการพัฒนาของประเทศจีนและภาคตะวันตกให้ได้บรรลุความเจริญร่วมกัน มีความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ เช่น การสร้างท่อส่งก๊าสธรรมชาติระหว่างจีนและรัสเซีย

ปัจจุบัน จีนตะวันตกในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาได้ความสมดุลมากขึ้น, การสร้างท่อส่งก๊าซและกระแสไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกและตะวันออก, นโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์ต้นน้ำแม่น้ำ 3 สาย, ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สัดส่วนของคนยากจนลดลง การประกันและดูแลสวัสดิภาพผู้สูงอายุ, รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ มีการใช้ FDI เพื่อเพิ่มหรืออนุมัติการลงทุนจากต่างชาติ นโยบายการเปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น ธุรกิจจากต่างประเทศก็เลือกที่จะไปลงทุนในเขตจีนตะวันตก รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศไทย เช่น เครือซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) และ ธ.กรุงเทพ

รัฐบาลจีนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาจีนตะวันตก ร่วมมือกับนานาประเทศรวมถึงอาเซียน รวมถึงวางแผนจะยกระดับ FTA ระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคต

สุดท้าย ท่านทูตจีนประจำประเทศไทยสรุปว่าจีนตะวันตกยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้สนใจ เนื่องจาก

1. ยังคงมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างจีนตะวันตกและจีนตะวันออก

2. โอกาสในการลงทุนที่ใช้ความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรที่ดินและแรงงานในจีนตะวันตกอย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีบริษัทระดับโลกย้ายฐานการลงทุนมายังจีนตะวันตก ตัวอย่างเช่น HP, CISCO, DELL และมีบางประเทศไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างเช่น สิงคโปร์

3. คนจีนนิยมพูดว่า "หากอยากร่ำรวยต้องสร้างถนน" – จีนตะวันตกยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน้อยอยู่เมื่อเทียบกับตะวันออกเพราะฉะนั้นยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศจีนพร้อมจะจับมือและลงทุนร่วมกันในด้านสาธารณูปโภคเพื่อก้าวต่อไปที่ดีที่สุดของจีนและอาเซียน

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040