泰国农行
|
กรุงเทพฯ – ภูมิภาคอาเซียนกำลังได้รับการจับตาจากประชาคมโลก ในขณะที่การรวมตัวระดับภูมิภาคครั้งสำคัญเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความสัมพันธ์ในภูมิภาคที่แนบแน่น รวมทั้งพลวัตทางประชากรศาสตร์ก่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดและการลงทุนอย่างมหาศาล นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของ 3 ยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมลงนามกับธนาคารพันธมิตรในภูมิภาคจำนวน 35 แห่งจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และลาว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้านการธนาคารระหว่างกัน นับเป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration: ASEAN +3 Banking Initiative) โดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการธนาคาร อีกทั้งยังขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการออกไปให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังจัดตั้งโครงการความร่วมมือ Taksila ASEAN Banking Forum – กิจกรรมอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการเงิน ผ่าน 2 หลักสูตรที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ คือ หลักสูตรภาวะผู้นำและหลักสูตรความเชี่ยวชาญด้านการธนาคาร
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การลงนามสัญญาระหว่างธนาคารทั้ง 36 แห่งภายใต้ปฏิญญาอาเซียนในครั้งนี้ แสดงออกให้ถึงการตื่นตัวของภาคเอกชนและรัฐบาล ในการทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยเฉพาะช่วยเรื่องการค้าขายข้ามพรมแดนของลูกค้า การเปิดสาขาใหม่ๆในต่างประเทศนั้นเทียบแล้วก็ไม่สำคัญเท่ากับการมีเครือข่าย ซึ่งสามารถเชื่อมเข้ากับระบบปฏิบัติการท้องถิ่นได้ดียิ่งกว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับธนาคารพันธมิตรเหล่านี้ก็คือห่วงลูกค้าของตนเอง เมื่อลูกค้าขยายธุรกิจไปยังเขตที่ตนเองเข้าไม่ถึง ก็เกรงว่าจะบริการได้ไม่เต็มที่ ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปใช้บริการของที่อื่น ยกตัวอย่าง เช่น ธนาคารท้องถิ่นจากประเทศญี่ปุ่น พวกเขาคงไม่มาเปิดสาขาที่เมืองไทย แต่สามารถอาศัยธนาคารกสิกรไทยในการช่วยเหลือลูกค้าของเขาที่มาลงทุนในประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้
ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งก่อตั้งโดยธนาคารพันธมิตร 36 แห่งจาก 9 ประเทศในอาเซียน + 3 มีประเด็นความร่วมมือครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูล, ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการธนาคาร, การส่งต่อลูกค้า, การชำระเงินข้ามพรมแดน, การพัฒนาทรัพยากรบุคคล, การจับคู่ทางธุรกิจ และข้อกำหนดด้านการบริการ(SLA)เกี่ยวกับสินเชื่อและการชำระเงิน
อนึ่ง ธนาคารจากประเทศจีนที่ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารหมินเซิง (中国民生银行) และธนาคารผิงอัน (中国平安银行)
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿