เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม กระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศจุดยืนเกี่ยวกับสิทธิควบคุมบริหารในคดีตัดสินกรณีพิพาททะเลจีนใต้ที่เสนอโดยฟิลิปปินส์ โดยย้ำอย่างเด็ดขาดว่า จีนไม่ยอมรับ และไม่ร่วมการตัดสินกรณีพิพาททะเลจีนใต้ พร้อมชี้แจงหลักฐานทางกฎหมายที่ว่าศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทนี้
การที่ฝ่ายฟิลิปปินส์อ้างเหตุผลต่างๆ สร้างข่าวเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้มาตั้งแต่ต้นปี 2014 นั้น นายอู๋ ซื่อฉุน ผู้เชี่ยวชาญปัญหาทะเลจีนใต้ของจีนเห็นว่า พฤติกรรมต่างๆ ของฟิลิปปินส์ ไม่เพียงแต่ทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง หากยังสะท้อนให้เห็นว่าทางการฟิลิปปินส์ไม่หวังที่จะรักษาความมั่นคงเหนือทะเลจีนใต้
นางเหลียง ฟัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนกล่าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ตั้งแต่สมัยโบราณ ราชสำนักฮั่นเริ่มจัดเรือลาดตระเวณทะเลจีนใต้ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ค้นพบ พร้อมกับตั้งชื่อให้หมู่เกาะและหินโสโครกกลางทะเลจีนใต้จำนวน 230 แห่ง ทั้งยิงได้ครองสิทธิในการควบคุมบริหารเหนือทะเลจีนใต้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากเกาะหวงเหยียนแล้ว ฟิลิปปินส์ยังได้ยึดครองเกาะอีก 8 แห่งของจีน โดยอ้างว่าเกาะเหล่านี้อยู่ใกล้กับฟิลิปปินส์ นางเหลียง ฟังชี้แจงว่า พฤติกรรมของฟิลิปปินส์ฝ่าฝืนหลักการควบคุมบริหารทะเล จากกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้ใดที่ขึ้นไปครองเกาะก่อน ก็จะเป็นเจ้าของเกาะแห่งนั้น ผู้ที่มีอธิปไตยเหนือเกาะ จึงมีสิทธิ์กำหนดบริเวณน่านน้ำทะเลที่ห่างจากเกาะไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลเป็นน่านน้ำทะเลของตน ดังนั้น ความเป็นเจ้าของเกาะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครอยู่ใกล้กับเกาะ หลักการนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ควรยึดถือจากกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งฟิลิปปินส์กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อบิดเบือนหลักการดังกล่าว
เมื่อเดือนมกราคมปี 2013 ฟิลิปปินส์ยื่นกรณีพิพาททะเลจีนใต้สู่ศาลระหว่างประเทศโดยลำพังฝ่ายเดียว ต่อแต่นั้นมา ฟิลิปปินส์ไม่ใส่ใจเสียงคัดค้านของจีน เจตนาผลักดันขั้นตอนการตัดสินคดีนี้ ล่าสุด รัฐบาลจีนจึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประกาศจุดยืนเกี่ยวกับสิทธิการตัดสินกรณีพิพาททะเลจีนใต้ที่เสนอโดยฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม
TOON/FENG