ประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าในท้องที่ต่างๆ ของจีน(ตอนต้น)
  2015-02-18 16:26:06  cri

วันสิ้นปีเก่า ภาษาจีนเรียกว่า "ฉูซี 除夕" ถือเป็นวันสุดท้ายของปีตามปฏิทินจันทรคติจีนและเริ่มต้นของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งได้รับความสำคัญจากชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวันที่สมาชิกครอบครัวทุกคนพยายามกลับไปรวมตัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ทานอาหารที่จัดเตรียมไว้อย่างอุดมสมบูรณ์ จุดประทัดและพลุไฟร่วมสนุก และเฝ้ารอค้างคืนเพื่อต้อนรับปีใหม่

จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ในวันส่งท้ายปีเก่าจีน ทั่วประเทศมีประเพณีเฉลิมฉลองอันหลากหลาย ตามวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของท้องที่ต่างๆ ในโอกาสที่วันตรุษจีนปีมะแมใกล้มาถึง รายการวันนี้ขอนำเสนอประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าที่มีเอกลักษณ์ของชาวจีนพื้นที่ต่างๆ เชิญชวนผู้ฟังทุกท่านให้ร่วมสัมผัสบรรยากาศฉลองตรุษจีนอันคึกคักร่าเริง

ถ้าฉลองตรุษจีนที่กรุงปักกิ่ง กิจกรรมในวันส่งท้ายปีเก่าถือว่าสำคัญและคึกคักที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน 7 วัน โดยทุกครอบครัวจะมีสมาชิกอยู่ครบหน้ากัน ร่วมรับประทานอาหารวันสิ้นปีและเฝ้ารอรับปีใหม่ด้วยกัน มีการเซ่นไหว้บรรพชน และต้อนรับเทวดาเป็นประเด็นโดดเด่นในวันสิ้นปี

ในอดีต ชาวปักกิ่งมีตารางเวลาที่แม่นยำสำหรับกิจกรรมในวันส่งท้ายปีเก่า กล่าวคือ ช่วง 07.00 น. – 11.00 น.ต้องติดกลอนคู่ต้อนรับปีใหม่หรือตัวอักษร "ฝู 福" ซึ่งแปลว่าความสุขที่ประตูบ้าน กวาดห้องถูพื้นทำความสะอาดบ้าน หลังจากนั้นช่วง 13.00 น. – 15.00 น. ก็เริ่มหุงหาอาหารเพื่อรับประทานในวันสิ้นปีและเตรียมทำเกี๊ยว พอถึง 18.00 น.ให้สมาชิกครอบครัวทุกคนนั่งล้อมวงร่วมทานอาหารมื้อสำคัญสุดประจำปี ช่วง 19.00 น. – 23.00 น. ไหว้บรรพชนและต้อนรับเทวดา และเฝ้ารอรับปีใหม่ จนถึง 24.00 น. ก็จุดประทัดแล้วต้มเกี๊ยวกินกัน

กิจกรรมทุกอย่างของชาวปักกิ่งในวันส่งท้ายปีเก่าจัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะไหว้เจ้าขอพรเพิ่มความสิริมงคลในชีวิต สาเหตุที่ให้ความสำคัญพิเศษกับการเซ่นไหว้บรรพชนคือ สังคมจีนโบราณเป็นสังคมการเกษตร ชาวบ้านต้องอาศัยกำลังทั้งครอบครัวทำไร่ไถนาทำมาหากิน ครอบครัวไหนมีสมาชิกเยอะ มีความรักสามัคคีและกลมกลืนสมานฉันท์ยิ่งมากก็จะยิ่งเจริญและมีความสุข สมาชิกในบ้านส่งท้ายปีเก่าด้วยพิธีเซ่นไหว้บรรพชนสามารถเสริมความสามัคคี สะท้อนถึงการรำลึกบุญคุณของบรรพชน

การต้อนรับเทวดาประจำบ้านเป็นเรื่องสำคัญในวันส่งท้ายปีเก่าเช่นกัน ชาวจีนสมัยโบราณเชื่อว่า เง็กเซียนฮ่องเต้ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์ จะส่งเทวดาทั้งหลายลงมาคุ้มครองโลกมนุษย์ในคืนวันสิ้นปีเก่า ที่สำคัญ เทพเจ้าเตาที่ไปทูลรายงานบนสวรรค์ตอนก่อนสิ้นปี ก็จะกลับถึงบ้านในคืนนี้ด้วย จึงต้องจัดพิธีต้อนรับและบูชาเทวดาอย่างจริงจัง เพื่อได้รับการคุ้มครองให้มีกินมีใช้ และป้องกันสิ่งชั่วร้าย จัดพิธีบูชาเทวดาเสร็จแล้วก็จะจุดประทัดและพลุไฟกันทุกบ้านเพื่อสร้างบรรยากาศต้อนรับปีใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มณฑลเฮยหลงเจียง จี๋หลินและเหลียวหนิง เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศฉลองรื่นเริงมากในวันส่งท้ายปีเก่า เพราะชาวบ้านในสามมณฑลนี้มีนิสัยตรงไปตรงมา ชอบทำอะไรให้คึกคักสนุกสนาน ในวันสิ้นปี ชาวจีนภาคอีสานดื่มเหล้าเก่งกว่าที่อื่น แม้ห่อเกี๊ยวก็ทำแผ่นแป้งให้ใหญ่ จะได้อัดไส้ได้มากเต็มที่ ในวันสิ้นปีเก่าจีน เกี๊ยวที่นี่พิเศษตรงที่ไส้ "โชคลาภ" เพราะคนห่อเกี๊ยวจะแอบซ่อนเหรียญเงินในเกี๊ยวด้วย ชาวจีนอีสานเชื่อว่า ใครที่ทานเจอถือว่าโชคดีมาก ปีใหม่จะหาเงินเก่งและรวยกว่าเพื่อน

 

หลังพระอาทิตย์ตกดินในวันสิ้นปี ครอบครัวคนอีสานพากันจุดโคมไฟแดงขนาดใหญ่ เรียกว่า "ตะเกียงอายุยืน" เป็นเครื่องตกแต่งบ้านที่มีความหมายสิริมงคล โคมไฟแดงต้องส่องสว่างทั้งคืน ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย โคมไฟแดงต้องจุดทุกคืนเพื่อขอพรให้สมาชิกครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน ทางบ้านมีลูกหลานสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่สิ้นสุด

เนื่องจากภาคอีสานของจีนเป็นแถบหนาว ชาวบ้านเคยชินกับผลไม้แช่แข็งมาแต่โบราณกาล เมื่อถึงวันส่งท้ายปีเก่า สาลี่ที่ชาวบ้านตั้งใจเก็บไว้ในห้องใต้ดิน เพราะผ่านความหนาวเหน็บจากธรรมชาติครบสามเดือนแล้ว กำลังมีรสชาติเลิศล้ำ เปรี้ยวหวานพอดี น้ำชุ่มฉ่ำ ประกอบกับมีกลิ่นหอมจากผลไม้ดองตามธรรมชาติ เคี้ยวคำแรกก็จะสัมผัสกับความสดชื่นทั่วปากชุ่มคอทันที สาลี่แช่แข็งมีส่วนช่วยลดอาการเมาเหล้าและแก้เลี่ยนอย่างดี เหมาะสมกับคนที่ทานเยอะดื่มเหล้าจัดในช่วงตรุษจีน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040