ประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าในท้องที่ต่างๆ ของจีน(ตอนจบ)
  2015-02-18 17:05:54  cri

เกาะไต้หวันของจีนเป็นพื้นที่ที่ได้อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมได้สมบูรณ์ไม่แพ้แผนดินใหญ่ สำหรับพี่น้องร่วมชาติชาวไต้หวัน วันส่งท้ายปีเก่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดของรอบปีหนึ่ง มีประเพณีเฉลิมฉลองอันหลากหลาย ในวันสิ้นปี ชาวไต้หวันจะตื่นแต่เช้า ตั้งรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมและเทวดาบนแท่นบูชา ติดภาพวาดสีที่มีความหมายสิริมงคลบนผนังบ้าน แขวนกลอนคู่อวยพรปีใหม่ที่สองข้างประตูบ้าน สร้างบรรยากาศฉลองตรุษจีนขึ้นมา

ตอนบ่ายจะประกอบพิธีบูชาในบ้าน เตรียมเครื่องบูชาครบชุดประกอบด้วยเนื้อต้มสุก ผักดอง ขนมหวาน ผลไม้สดและสุรากลิ่นหอม กราบไหว้เทพเจ้าและบรรพชนอย่างเอิกเกริก แสดงความขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ให้การคุ้มครอง และขอพรให้ได้ความสุขมากขึ้นในปีใหม่ที่จะถึงนี้ พิธีไหว้เจ้าจะเสร็จสิ้นด้วยการเผากระดาษทองและจุดประทัด

ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า สมาชิกครอบครัวทุกคนนั่งล้อมโต๊ะกลมรับประทานอาหารที่อุดมสมบูรณ์ กับข้าวแต่ละชนิดมีความหมายดีทั้งนั้น ลูกชิ้นหมูกับลูกชิ้นปลาแสดงความปรารถนาดีที่ให้คนในบ้านอยู่ครบหน้าและครอบครัวสมานฉันท์ หัวไชเท้าคนไต้หวันเรียกว่า "ไช่โถ" พ้องเสียงกับโชคลาภดี อาหารทอดที่ออกสีทองทำเพื่อได้เงินทองเต็มบ้าน หม้อไฟใหญ่ที่เผาด้วยถ่านไม้สื่อความหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าเด็กหรือผู้สูงอายุ ต้องทานอาหารทุกอย่างเพื่อสะสมโชค ผักที่ลวกในหม้อไฟมื้อนี้ ต้องให้ทานทั้งใบ ต้นและรากครบทุกส่วน เป็นการขอพรให้พ่อแม่มีอายุยืน

ที่เขตชนบทของไต้หวัน มีประเพณีส่งท้ายปีเก่าที่แปลกน่าดูอย่างหนึ่ง เรียกว่า "กระโดดข้ามเพลิงกะละมัง" หลังอาหารมื้อเย็น แต่ละครอบครัวจะตั้งกะละมังทองแดงที่หน้าประตูบ้าน ใส่ฟางข้าวไว้หลังจากนั้นจุดไฟขึ้น ให้คนในบ้านวิ่งกระโดดข้ามกะละมังที่ติดไฟ ตอนวิ่งและกระโดดให้พูดคำมงคลขอพร หลังไฟดับแล้ว ต้องเก็บกวาดซากไหม้ในห้องครัวขอเทพมาคุ้มครอง

มณฑลส่านซีตั้งอยู่บนที่ราบสูงซึ่งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ประเพณีฉลองตรุษจีนของที่นี่สนุกสนานอีกแบบหนึ่ง ชาวบ้านที่ขยันทำงานเหน็ดเหนื่อยทั้งปี จะพักผ่อนให้เต็มที่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงต้องสร้างบรรยากาศคึกคักรื่นเริงเป็นพิเศษในวันส่งท้ายปีเก่า นอกจากติดกลอนคู่และงานกระดาษตัดสิริมงคล แขวนโคมไฟและทำความสะอาดบ้านแล้ว ชาวส่านซีมีประเพณีพื้นเมืองที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือราดจิ๊กโฉ่วบนถ่านเผาแดง โดยใช้ช้อนเหล็กตักถ่านหินเผาแดงชิ้นหนึ่งออกจากเตา ถือเดินให้ทั่วทุกมุมในบ้าน ระหว่างนั้นก็ราดจิ๊กโฉ่วไปบนถ่าน ให้ไอจิ๊กโฉ่วกับกลิ่นเปรี้ยวตลบไปทั่วห้อง เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อแต่เก่าก่อน จริงๆ แล้ว ไอจิ๊กโฉ่วยังสามารถกำจัดเชื้อราหลายชนิด ในคืนวันสิ้นปีใหม่ ชาวบ้านนอนดึกมาก หลับสนิทก็ไม่ยอมปิดไฟจนกว่าท้องฟ้าสว่างในวันรุ่งขึ้น เป็นการขอพรให้ได้รับความปลอดภัยทั้งสี่ฤดูกาลและมีอายุยืนยาว

เมื่อพูดถึงการฉลองตรุษจีนของคนส่านซี ก็หนีไม่พ้นการรำยางเกอ ศิลปะพื้นเมืองที่เป็นมรดกโลกวิถีชนที่ขื้นชื่อของชาวจีน ซึ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวางในภาคเหนือของจีน การรำยางเกอมีต้นแบบจากการรำดำนาของราชวงศ์ซ่ง ขณะนี้ คณะยางเกอนิยมมีคนรำตั้งแต่หลายสิบคนถึงร้อยคน มีการรำหมู่ รำคู่ รำสามคน นักแสดงจะใช้ผ้าเช็ดมือ ร่ม กระบอง กลอง หรือแส้ เป็นอุปกรณ์การแสดง ร่ายรำท่ามกลางเสียงกลองและขลุ่ยซอนา ท่าทางการร่ายรำมีทั้งแบบสง่าและแบบอ่อนหวาน

การรำยางเกอในวันส่งท้ายปีเก่ารักษาประเพณีการบูชาเทพเจ้าไว้ และมีกิจกรรมไหว้ประตู วิ่งรอบลาน และหมุน 9 มุม เป็นต้น มีท่าทางแสดงอันหลากหลาย เช่น หมุนตัวอยู่กับที่ เดิน 3 ก้าวสลับกระโดด 1 ก้าว เดินเอียงตัวส่ายไหล่ จัดการแสดงได้ทั้งในสนามใหญ่หรือเพียงที่ว่างๆ แค่ลานเล็กๆ ขบวนที่เข้าสนามใหญ่จะมีการแปรรูปขบวนมากมายหลายแบบ เช่น มังกรแกว่งหาง ผักกาดขาว ดอกบ๊วย โคมไฟดอกบัว ฯลฯ ส่วนการแสดงในสนามเล็กมีแบบการพายเรือ ขี่ลา ต่อขาไม้และเล่นแส้ เป็นต้น

ยางเกอของชาวส่านซีสะท้อนให้เห็นถึงนิสัยเรียบง่าย ร่าเริงและซื่อสัตย์ของชาวจีนภาคเหนือในเขตชนบทของมณฑลส่านซี ทุกหมู่บ้านมีคณะร่ายรำยางเกอ ตอนเช้าในวันส่งท้ายปีเก่า คณะยางเกอจะไปศาลเจ้าในหมู่บ้านก่อน ไหว้เจ้าเสร็จแล้วก็จะเคาะประตูทุกบ้าน อวยพรปีใหม่ในลานบ้านของทุกครอบครัวด้วยการเต้นรำยางเกอและขับร้องเพลงพื้นเมือง ภาวนาให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้รับผลอุดมสมบูรณ์

ไปดูที่มณฑลเจียงซีกันบ้าง ในช่วงเช้าของวันสิ้นปีเก่า ครอบครัวชาวเจียงซีจะต้องจัดพิธีกราบไหว้พระพุทธเจ้าด้วยอาหารอุดมสมบูรณ์ที่หน้าประตูบ้าน เมนูอาหารเซ่นไหว้ต้องมีของสำคัญครบ 6 อย่าง ได้แก่ หัวหมู ตีนหมู ไก่ ปลา ขนมข้าวเหนียว เต้าหู้ และผลไม้ ถึงตอนเที่ยง ต้องจุดประทัดก่อนแล้วค่อยทานอาหารกลางวัน ซึ่งมื้อนี้ต้องกินก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตราบรื่น

หลังอาหารมื้อเที่ยง ตั้งเรียงอาหารเซ่นไหว้อีกรอบหนึ่งที่หน้าประตูบ้าน เพื่อบูชาบรรพชน เด็กๆ ก็ต้องร่วมด้วย ให้สมาชิกทุกคนจุดธูปกราบไหว้ทั้งสี่ทิศ กล่าวคำสรรเสริญบุญบารมีของบรรพชน เสร็จแล้วก็เริ่มเตรียมอาหารมื้อสำคัญสุดของคืนวันส่งท้ายปีเก่า สำหรับชาวเจียงซี ปลาเป็นอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดในมื้อนี้ ปลาภาษาจีนออกเสียงว่า "อี๋ว์" พ้องเสียงกับอักษรจีนอีกตัวหนึ่งที่มีความหมายว่า "มีเหลือ" กินปลาส่งท้ายปีเก่าสะท้อนถึงความปรารถนาที่ให้มีเหลือกินเหลือใช้ในปีใหม่ที่จะมาถึง หลังอาหาร ทุกคนต้องอาบน้ำเพื่อปัดฝุ่นจากปีเก่าให้พ้นออกจากตัว

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040