หลังนายสี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน รัฐบาลจีนได้เสนอแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ หลายประเด็น เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้มีดุลยภาพใหม่ การพัฒนาแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก และการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 การก่อตั้ง
กองทุนเส้นทางสายไหม และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่แก่การพัฒนาเศรษฐกิจโลก แนวคิดริเริ่มดังกล่าวล้วนได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาคมโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการก่อตั้งธนาคารเอไอไอบี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย และการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เคยเชื่อมจีนกับตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปในอดีตขึ้นมาใหม่ ซึ่งแผนเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากหลายประเทศ และหลายบริษัททั่วภูมิภาคด้วยดี แม้แต่รัฐบาลของประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เช่น อังกฤษ ก็ขอร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเอไอไอบีด้วย
การก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ เอไอไอบี เป็นข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างเดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2013 และในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 4 เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2014 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำว่าจะเร่งสร้างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องเร่งก่อตั้งธนาคารเอไอไอบี โดยเร็ว
ทั้งนี้เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
มีการคาดการณ์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียว่า แต่ละปี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชียต้องใช้เงินประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้อีกประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถ้าอาศัยสถาบันการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่พอ รัฐบาลจีนจึงเสนอที่จะเพิ่มทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อประเดิมก่อตั้งธนาคาร เอไอไอบี โดยเร็ว
นายลู่ จื้อเหว่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีน กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การก่อตั้งเอไอไอบีจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านต่างๆ และยังเป็นการวางรากฐานสำคัญแก่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของภูมิภาคนี้ต่อไป
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมปี 2014 เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการคลังของรัฐบาลจาก 20 ประเทศเดินทางมาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ และร่างข้อตกลง ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง
ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมลงนามก่อตั้งเอไอไอบี ได้แก่ บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เนปาล โอมาน ปากีสถาน กาตาร์ ศรีลังกา ไทย อุซเบกิสถาน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย และจีน
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคาร เอไอไอบี ที่มีจีนเป็นผู้ริเริ่มแห่งนี้ถูกประเทศมหาอำนาจบางประเทศมองว่า จะมาเป็นคู่แข่งกับ ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียที่สหรัฐฯมีบทบาทอย่างมากอยู่ ประเทศมหาอำนาจบางประเทศจึงพยายามท้วงติง สกัดกั้นการก่อตั้งธนาคารเอไอไอบีนี้มาโดยตลอด โดยอ้างเหตุผลเรื่องของ ธรรมาภิบาลบ้าง สิ่งแวดล้อมบ้าง
อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งธนาคารนี้ได้รับการตอบรับด้วยดีจากหลายชาติที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ โดยต่างได้แถลงร่วมเป็นสมาชิกผู้ริเริ่มก่อตั้ง ธนาคารนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ธนาคารเอไอไอบีมีศักยภาพที่จะแสดงบทบาทสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
เนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งประเทศพันธมิตรร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียได้ สหรัฐอเมริกาจึงต้องปรับเปลี่ยนท่าที เมื่อเร็วๆ นี้ โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯแถลงว่า การเป็นสมาชิกธนาคารเอไอไอบี หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศใดก็ตามที่มีอำนาจอธิปไตย