เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เกาหลีใต้และออสเตรเลียทยอยกันประกาศขอเป็นสมาชิกประเทศผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียหรือธนาคาร AIIB โดยไม่สนใจท่าทีไม่เห็นด้วยของสหรัฐอเมริกาต่อการที่จีนเสนอให้สร้างธนาคาร AIIB ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อมวลชนทั่วโลกจับตามอง ขณะนี้ พันธมิตรสหรัฐฯ ในเอเชียเหลือเพียงญี่ปุ่นยังคงถือหางพี่ใหญ่อยู่ เหตุใดธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียมีแรงจูงใจมากถึงขนาดนี้
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การพัฒนาของสากลโลกต้องการแนวทางร่วมมือที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ระดับความเป็นหนึ่งเดียวภายในภูมิภาคสูงขึ้นทุกที แต่โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาไม่สมดุลกันนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเชื่อมต่อกันเพื่อการหมุนเวียนของวัตถุดิบการผลิตกับเงินทุน
โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่มีรายได้ขนาดปานกลางหรือต่ำ โครงสร้างพื้นฐานพัฒนาล่าช้ามากเพราะขาดแคลนเงินทุน ทั้งช่องทาง รูปแบบ ผู้ดำเนินการและกลไกการระดมทุนล้วนเป็นปัญหาที่รอปรับปรุงแก้ไข การพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชีย ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ ยิ่งแก้เร็วก็ยิ่งมีผลดี
ภารกิจหลักของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียคือขจัดความยากจน เงินทุนของพวกเขาที่ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียยังคงน้อยมาก เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ธาตุแท้ของการลงทุนคือมุ่งเก็งกำไร องค์กรระดมทุนเอกชนจึงพุ่งเป้าไปยังสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ความต้องการเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศเอเชียส่วนใหญ่ ตลอดจนประเทศที่เศรษฐกิจเจริญใหม่ ยากที่จะได้รับการสนองตอบอย่างแท้จริง
อนึ่ง เมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายในประเทศ โครงการเชื่อมต่อกันข้ามประเทศและข้ามภูมิภาค ยากที่จะตกลงกันและเดินหน้าอย่างเป็นทางการ เช่น ทางรถไฟและทางหลวงแพนเอเชียที่อภิปรายกันนานหลายปีนั้น โดยที่หลายประเทศต้องมีส่วนร่วม ยอดการลงทุนมหาศาล และต้องใช้เวลานานถึงจะเห็นผลตอบแทนได้ เงื่อนไขบังคับคือ ต้องมีองค์กรการเงินพหุภาคีอุดหนุนประสานกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะลงมือทำ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานล้าหลังกับการเติบโตของเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย คุณภาพและจำนวนของโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียล้วนต่ำกว่าของโลกสากล ซึ่งขัดขวางความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเอเชียอย่างรุนแรง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียคาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั่วทวีปเอเชียต้องการยอดการลงทุนจำนวน 8.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หมายถึงแต่ละปีต้องทุ่มเงิน 820,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา ยอด GDP ของประเทศเอเชีย หากไม่รวมของจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เหลือเพียง 8 ล้านล้านหยวน สถิติจากธนาคารโลกระบุว่า สำหรับประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและต่ำ ยอดการสะสมทุนคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของมูลค่า GDP แต่ในเงินจำนวนนี้มีเพียง 20% ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น บรรดาประเทศรายได้น้อยดังกล่าว เต็มที่เต็มแรงแล้วมีเงินใช้แค่ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ น้อยกว่าความต้องการครึ่งหนึ่ง
ยกอินเดียเป็นตัวอย่าง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตต้องการอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานในเอเชีย ปล่อยให้กู้เพียง 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 ต่อให้ธนาคารโลกและประเทศพัฒนาแล้วมาร่วมลงแรง ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนดำเนินการของอินเดียยังยากที่จะแก้ให้ตก
เนื่องจากทวีปเอเชียเผชิญกับความยากลำบากและความต้องการเร่งด่วนต่อการนี้ รัฐบาลจีนจึงเสนอก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียหรือธนาคาร AIIB ให้เป็นองค์กรพัฒนาพหุภาคีระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคเอเชีย ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานคือ มุ่งใช้ความพยายามเปิดเวทีระดมทุนและลงทุน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเชื่อมต่อกัน และกระบวนการเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจเอเชีย เพื่อบรรลุความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้าร่วมกัน
ธนาคาร AIIB ที่ริเริ่มโดยจีนยืนหยัดลักษณะองค์กรพหุภาคีที่เปิดตัวสู่ภายนอก ยืนหยัดหลักการช่วยเหลือประเทศเอเชียก่อนประเทศนอกเอเชีย อันที่จริง วัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งปันสิทธิของผู้ถือหุ้น โครงสร้างการจัดการ ฯลฯ ล้วนยึดถือมาตรฐานและกลไกดำเนินการขององค์กรการเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุ่งมั่นสร้างสรรค์องค์กรการเงินใหม่ที่มีลักษณะกลมกลืน เปิดกว้างและโปร่งใส
ด้วยเหตุนี้ ประเทศเอเชีย ตลอดจนประเทศนอกเอเชียจำนวนมากพากันขอเป็นประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ไม่เพียงแต่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน หากยังมองเห็นถึงอนาคตอันสดใสของธนาคาร AIIB การดำเนินการของธนาคาร AIIB จะให้หลักประกันด้านการเงินในระยะยาวไว้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและการใช้ทุนในภูมิภาคเอเชีย เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการเชื่อมต่อกันและก้าวหน้าร่วมกันในทุกด้าน