8 เมษายน 1942 : ทดลองเปิดเส้นทางการบินถัวเฟิง
  2015-05-05 16:53:59  cri

วันที่ 8 เมษายน 1942 มีการทดลองเปิดเส้นทางบินช่วยเหลือทางอากาศ เพื่อขนส่งสิ่งของจากประเทศต่างๆ สู่ประเทศจีน โดยเริ่มต้นจากเมืองกัลกัตตาของอินเดีย ไปยังเมืองคุนหมิงของจีน โดยจีนกับสหรัฐอเมริการ่วมกันเปิดเส้นทางการบินข้ามอินเดีย พม่าและจีนนี้ ใช้ชื่อว่าเส้นทางการบินถัวเฟิง เส้นทางบินสายนี้ได้มีบทบาทสำคัญมากในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของจีน

วันที่ 30 มกราคม 1942 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มบุกรุกพม่า ผ่านทางหลวงยูนนาน-พม่า ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสิ่งของช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ สู่ประเทศจีนเพียงทางเดียวในขณะนั้น ในวันเดียวกัน นายแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงเสนอให้เริ่มใช้เส้นทางขนส่งสิ่งของช่วยเหลือทางอากาศสู่ประเทศจีน นายซุ่ง จื่อเหวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลก๊กมิ่นตั๋งจึงส่งสาส์นถึงประธานาธิบดี รูสเวลท์ เสนอให้เปิดเส้นทางการบินจากอินเดียสู่คุนหมิง รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ บินข้ามเทือกเขาหิมาลัยเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 เมษายน จึงถือเป็นการเปิดเส้นทางการบินจากแคว้นอัสซัมของอินเดียสู่เมืองคุนหมินของจีน

การบินตามเส้นทางนี้ยากลำบากมาก เนื่องจากต้องบินข้ามเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำนู่เจียง แม่น้ำหลันชางเจียงและแม่น้ำจินซาเจียง ซึ่งล้วนเป็นเขตอันตรายมากทั้งสิ้น มีระยะทางรวมประมาณ 800 กิโลเมตร มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,500-5,500 เมตร และสูงสุดถึงกว่า 7,000 เมตร ตลอดทางมีเทือกเขาสูงต่ำทอดยาวเหยียด มองดูคล้ายหลังอูฐ จึงเป็นที่มาของชื่อเส้นทางการบินถัวเฟิง ซึ่งแปลว่าหลังอูฐ

นอกจากต้องบินข้ามภูเขาและธารน้ำแข็งแล้ว ยังต้องบินผ่านพื้นที่โรคมาเลเรียแพร่ระบาด ป่าดงดิบ กระทั่งเขตที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ทำให้เครื่องบินต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะตกได้ทุกเวลา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เส้นทางการบินเสี่ยงตาย จนนายฮารีแมน นักการทูตสหรัฐอเมริกาถึงกับกล่าวว่า เส้นทางบินนี้เป็นเส้นทางบินที่น่ากลัวและอันตรายที่สุด

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าสู่ประเทศจีนคือ กองการบินขนส่งของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและบริษัทการบินจีน ตั้งแต่เดือนเมษายน 1942 ถึงเดือนสิงหาคม 1945 กองทัพสหรัฐฯ ส่งเครื่องบิน 2,100 ลำ จีนส่งเครื่องบิน 100 ลำ ตลอดจนทหารและเจ้าหน้าที่ของสองฝ่ายรวมกว่า 84,000 คน ร่วมกันขนส่งสิ่งของกว่า 850,000 ตัน ทหาร 33,477 นายผ่านเส้นทางการบินนี้ ทำให้จีนได้รับสิ่งของช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกเพื่อใช้ในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น

เส้นทางการบินถัวเฟิงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของจีนและสงครามต่อต้านฟาสซิสต์ของโลก แต่ทว่า ทั้งจีนกับสหรัฐฯ ก็มีการสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน สถิติจากทางการสหรัฐฯ แสดงว่า เครื่องบินของสหรัฐฯ ตก 563 ลำขณะบินผ่านเส้นทางการบินถัวเฟิง มีนักบินและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตกว่า 1,500 คน ส่วนบริษัทการบินจีนมีเครื่องบินตก 48 ลำ มีนักบินเสียชีวิตกว่า 168 คน

นิตยาสารไทมส์ของสหรัฐฯ ฉบับแรกซึ่งพิมพ์จำหน่ายในปี 1946 มีบทความเขียนถึงเส้นทางการบินถัวเฟิงว่า ท่ามกลางเทือกเขาหิมะ หุบเหวลึกและธารน้ำแข็งที่ทอดยาวเหยียดกว่า 800 กิโลเมตร มีเศษชิ้นส่วนเครื่องบินตกกระจายไปทั่วภูเขา เวลาต้องแสงแดด แผ่นอลูมิเนียมจะเปล่งประกายแวววับ เส้นทางการบินถัวเฟิง จึงได้รับสมญาอีกชื่อว่า"อลูมิเนียมวัลเลย์"

มิ่ง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040