ขณะที่จีนจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมเพื่อสนองเงินทุนให้กับการสร้าง " 1 แถบ 1 เส้นทาง" นั้น ยังได้ริเริ่มก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียหรือ AIIB ซึ่งจะให้การสนับสนุนเงินทุนงวดแรกเป็นเงิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียด้วย
เมื่อสิ้นปี 2014 มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกองทุนเส้นทางสายไหมจำกัดขึ้น ร่วมทุนโดยกรมบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติ บริษัทการลงทุนจีนจำกัด ธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกจีนและธนาคารพัฒนาแห่งชาติ หลังจากนั้น ทางการจีนมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ทำให้โฉมหน้าของกองทุนเส้นทางสายไหมชัดเจนยิ่งขึ้น
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นางจิน ฉี ประธานกรรมการบริษัทกองทุนเส้นทางสายไหมจำกัดกล่าวในที่ประชุม "สองสภา" ของจีนว่า กองทุนเส้นทางสายไหมไม่ใช่การให้เงินทุนแบบให้เปล่าหรือการบริจาค แต่เป็นเงินกู้ด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ ระหว่างการดำเนินการ จะลงทุนในโครงการเพื่อผลกำไรและสิทธิประโยชน์ในระยะกลางและระยะยาว
ความแตกต่างระหว่างกองทุนเส้นทางสายไหมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียหรือ AIIB
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่า AIIB จะมุ่งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ส่งเสริมการสร้างระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อภูมิภาคและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่วนกองทุนเส้นทางสายไหมจะสนับสนุนการสร้าง "1 แถบ 1 เส้นทาง" รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านนโยบาย ส่งเสริมการค้า การสมทบทุน และการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน AIIB จะทุ่มกำลังในภูมิภาคเอเชีย ส่วนกองทุนเส้นทางสายไหมจะครอบคลุมทวีปเอเชีย แอฟริกาและยุโรป
แต่กองทุนเส้นทางสายไหมกับ AIIB มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ จีนยินดีให้นักลงทุนที่มีความปรารถนาร่วมกันจำนวนมากขึ้นมาร่วมในกองทุนเส้นทางสายไหม หรือดำเนินความร่วมมือบนพื้นฐานของกองทุนเส้นทางสายไหม
เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์กลางเดลี่ของเกาหลีใต้ตีพิมพ์บทความชี้ให้เห็นว่า แนวคิด "ความร่วมมือเพื่อได้ประโยชน์ร่วมกัน" ของจีน ที่มุ่งช่วยเหลือประเทศรอบข้าง บรรลุเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันนั้นเป็นที่เข้าใจและยอมรับของชาวโลกมากขึ้น
บทความระบุว่า ถ้าหากกองทุนเส้นทางสายไหมดำเนินการอย่างราบรื่นและได้ผลจริง ก็จะดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากขึ้นมาร่วม จึงสามารถที่จะส่งเสริมระบบและบรรยากาศการลงทุนของภูมิภาคให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ตลอดจนเสนอเงินทุนที่พอเพียงและมั่นคงต่อการสร้าง "1 แถบ 1 เส้นทาง"
นายจาง เว่ยเหวิน นักวิจัยสถาบันการเงินสภาสังคมศาสตร์จีนกล่าวว่า ภูมิภาคหลายแห่งของเอเชียมีความต้องการเงินทุนมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่จีนมีการสะสมเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก มีประสบการณ์บริหารและการสร้างสรรค์ที่ทันสมัย ดังนั้น การตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมและธนาคารเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ย่อมจะมีบทบาทเชื่อมต่อความต้องการของสองฝ่าย ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนที่จำเป็น ทำให้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์
จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนสะสมเงินตราต่างประเทศได้ 3.73 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้น การขยายลู่ทางการใช้เงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้นั้น จึงเป็นภารกิจของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญที่กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการสะสมเงินตราต่างประเทศให้ดีขึ้น ใช้เงินทุนต่างประเทศอย่างมีประสิทธิผล มีความหมายสำคัญสำหรับจีนและประเทศที่เกี่ยวข้อง
หลังจากเซ็นสัญญาการลงทุนรายแรกในปากีสถานแล้ว กองทุนเส้นทางสายไหมจะเล็งเป้าไปยังโครงการอื่นๆ อีกมาก โดยผู้รับผิดชอบกองทุนได้ติดต่อเจาจรกับหน่วยงานและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวม คัดเลือกและประเมินรายการลงทุนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
(In/Lin)