คุณชอบสีอะไร? เชื่อว่าคงเป็นคำถามยอดฮิตที่ถูกถามกันมาตั้งแต่เด็ก ล่าสุดบริษัทวิจัยตลาด "ยูกอฟ (YouGov)" ได้ทำสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ครอบคลุม 4 ทวีปใน 10 ประเทศและเขตแคว้น ได้แก่ ไทย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐฯ และออสเตรเลีย
ผลปรากฏว่า สีที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกมากเป็นอันดับหนึ่งตรงกัน รวมถึงชาวจีนที่เห็นว่าสีแดงเป็นสีแห่งความสิริมงคล ก็ยังเลือก "สีฟ้า" เป็นสีโปรดที่สุด โดยชาวอังกฤษมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 33 ส่วนสีที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสอง มีความแตกต่างกันไปบ้าง โดยไทย จีน และสหรัฐฯ เป็นสีเขียว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เยอรมนี และอังกฤษเป็นสีแดง ฮ่องกงเป็นสีม่วง เป็นต้น ซึ่งสีฟ้าจะให้ความรู้สึกสงบ สุขุม รอบรู้ สีแดงเปี่ยมด้วยพลัง ร้อนแรง มีชีวิตชีวา สีเขียวแฝงไว้ซึ่งความหวัง การเติบโต อุดมสมบูรณ์
เมื่อพูดถึงเรื่องสี การแต่งหน้างิ้วปักกิ่งที่มีความพิถีพิถันก็แฝงความหมายไว้ด้วยเช่นกัน โดยสีสันบนใบหน้าที่แตกต่างจะบอกถึงคุณสมบัติ ลักษณะนิสัย และทัศนคติของตัวละครนั้น ๆ อาทิ สีแดงแสดงถึงความจงรักภักดี กล้าหาญ ยกตัวอย่าง กวนอู(关羽) สีดำแสดงถึงความเที่ยงตรง มีคุณธรรม เช่น เปาบุ้นจิ้น(包公)สีขาว - ความเจ้าเล่ห์ อหังการ เช่น โจโฉ(曹操) สีฟ้า – องอาจ กล้าหาญ หรือเจ้าอุบาย สีเขียว – ความยึดมั่น มุทะลุ สีเหลือง – กล้าหาญ ดุดัน สีม่วง – ซื่อตรง สุขุม หนักแน่น สีทองหรือเงินแสดงถึงความเป็นเทพมาร หรือสูงส่งเกินมนุษย์ธรรมดา
แรกเริ่มการวาดหน้างิ้ว มีขึ้นเพื่อเน้นองค์ประกอบบนใบหน้า อาทิ ตา จมูก ปาก ของผู้แสดงให้ชัดเจนเป็นสำคัญ โดยใช้วิธีการวาดแบบเกินจริงเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงลักษณะนิสัยใจคอของตัวละครได้ด้วย ต่อมาได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ จากเรียบง่ายเป็นซับซ้อน จากหยาบ ๆ เป็นละเอียดประณีต จนกลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษในการแสดงออกถึงศิลปะการวาดลวดลายบนใบหน้าของชนชาติจีน
ความพิเศษของลวดลายและสีสันบนใบหน้านักแสดง ทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงอุปนิสัยใจคอของตัวละครในเรื่องได้ และไม่เฉพาะงิ้วปักกิ่งเท่านั้น งิ้วท้องถิ่นอื่น ๆ ของจีนก็มีการวาดหน้าด้วยเช่นกัน
การแต่งหน้างิ้ว นอกจากบ่งบอกลักษณะนิสัยของตัวละครแล้ว ยังแฝงไว้ซึ่งชีวิตความเป็นมาเป็นไปของตัวละครนั้น ๆ ไว้ให้ผู้ชมทราบได้ด้วย อาทิ การวาดให้ "เปาบุ้นจิ้น" หน้านิ่วคิ้วขมวดแฝงความหมายที่ว่า เป็นผู้ที่ต้องขบคิดเพื่อผดุงความยุติธรรมอยู่ตลอด วาดหน้า "เห้งเจีย" แบบลิงเพื่อบอกผู้ชมว่าตัวละครตัวนี้คือลิง หรือวาดช่วงตาให้เป็นแถบย้อยลงดูหน้าโศก บ่งบอกผู้ชมว่าชีวิตบั้นปลายของตัวละครจบแบบโศกนาฏกรรม นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องของดึงระยะห่างระหว่างผู้แสดงกับผู้ชมด้วย เพราะการวาดหน้าเหมือนกับใส่หน้ากาก ทำให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับการแสดง ไม่หลงติดกับหน้าตาแท้จริงของผู้แสดงว่าเป็นใคร
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府