ขณะนี้ ยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่รุนแรงมาก จนประเทศใดประเทศหนึ่งหรือแม้หลายประเทศในสหภาพยุโรปจะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้โดยลำพัง ด้วยเหตุนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้คณะกรรมการสหภาพยุโรปออกนโยบายใหม่ เพื่อรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัยร่วมกัน สื่อยุโรปรายงานว่า นายฌอง-โคลด ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป จะกล่าวปราศรัยที่สภายุโรปในวันนี้ (วันที่ 9 กันยายน) ซึ่งอาจมีการประกาศใช้มาตรการใหม่ โดยจะให้ทุกสมาชิกสหภาพยุโรปช่วยกันรับผู้ลี้ภัยตามโควตาที่กำหนด เพื่อรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลที่เข้ามาในยุโรปแล้วหรือกำลังเดินทาง เข้ามายังยุโรป ขณะนี้ ผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามายังยุโรปแล้วส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอิตาลี และกรีซ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเคยเสนอแผนรองรับผู้ลี้ภัยที่เดิน ทางเข้าสู่ยุโรป เนื่องจากในตอนนั้น จำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามายังยุโรปไม่มากเท่าขณะนี้
แผนเดิมจึงระบุว่า สมาชิกสหภาพยุโรปสามารถสมัครรับผู้ลี้ภัยได้ไม่ว่าจำนวนมากหรือ น้อย แต่แผนฉบับใหม่อาจบังคับให้ ทุกสมาชิกสหภาพยุโรปต้องช่วยกันรับผู้ลี้ภัยตามโควตา หากดำเนินการตามแผนเดิม เยอรมนีจะรับผู้ลี้ภัย 40,000 คน ฝรั่งเศสรับ 31,000 และสเปนรับอีกจำนวนหนึ่ง คิดเป็นประมาณ 60% ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยแม้แต่คนเดียว เช่น ฮังการี สโลวัค และโปแลนด์ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเคยเสนอให้ฮังการีรับผู้ลี้ภัยจำนวน 827 คน แต่ถูกรัฐบาลฮังการีปฏิเสธ จากสถานการณ์ในขณะนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ยอมรับผู้ลี้ภัย ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ ฟินแลนด์ โรมาเนีย เบลเยี่ยม และสวีเดน จึงทำให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปไม่สามารถดำเนินการตามแผน การรองรับผู้ลี้ภัยฉบับเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ วิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรปมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เยอรมนีและฝรั่งเศสออกมาเรียกร้องหลายครั้งโดยให้สหภาพยุโรป ต้องบังคับให้ทุกสมาชิกสหภาพยุโรปช่วยกันรับผู้ลี้ภัยตามโควตา เพื่อแก้ไขวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่
สื่อยุโรปจึงคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่นายฌอง-โคลด ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะประกาศใช้มาตรการใหม่ในการแก้ไขวิกฤตผู้ลี้ภัย
จากข้อมูลล่าสุด ครึ่งปีแรกนี้ มีผู้ลี้ภัย 400,000 คน ขอเดินทางเข้าประเทศยุโรป ในจำนวนนี้ มี 43% ขอเดินทางเข้าไปยังเยอรมนี ด้านกระทรวงมหาดไทยเยอรมนีคาด เฉพาะปีนี้ อาจมีผู้ลี้ภัยจำนวน 800,000 คนต้องการเดินทางเข้าเยอรมนี เมื่อเร็วๆ นี้ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายฟรองซัวร์ ออลลองด์ (Francois Hollande) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกร้องสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการใหม่ โดยบังคับให้ทุกสมาชิกสหภาพยุโรปช่วยกันรับผู้ลี้ภัยตามโควตาที่ กำหนดไว้
(YIM/cai)