หูหนานกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม @ เมืองฉางซา
  2015-09-15 13:27:05  cri

หูหนาน(湖南) เป็นมณฑลในภาคกลางของจีน เนื่องจากมีแม่น้ำเซียงเจียงไหลผ่านจึงมีชื่อย่อว่า "เซียง(湘)" เมืองเอกคือเมืองฉางซา(长沙) ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีเลิศ ทำให้หูหนานเป็นชุมทางการคมนาคมระหว่างมณฑลทางเหนือใต้ออกและตกที่สำคัญของจีน โดยมีทางหลวงเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วสารทิศ ทางรถไฟสายหลักก็มีผ่านถึง 5 สาย ได้แก่ สายจิงกว่าง(กรุงปักกิ่ง-กว่างโจว) สายเซียงเฉียน(มณฑลหูหนาน-กุ้ยโจว) สายเซียงกุ้ย(มณฑลหูหนาน-กว่างซี) สายเจ้อกั้น(มณฑลเจ้อเจียง-เจียงซี) และสายจือหลิ่ว(มณฑลหูเป่ย-หูหนาน) ส่วนทางน้ำก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลอยู่ด้านใต้ของทะเลสาบต้งถิงหู(洞庭湖) ทะเลสาบน้ำจืดสำคัญที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ซึ่งจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแยงซีเกียง ทำให้สามารถเดินทางติดต่อออกสู่ทะเลจีนตะวันออกได้สบาย รวมถึงในเรื่องการคมนาคมทางอากาศที่มีสายการบินเปิดให้บริการจากฉางซาไปยังเมืองต่างๆ ทั่วจีนด้วย

พื้นที่จัดแสดงประสิทธิภาพเตาทำความร้อนแบบติดผนังภายในบ้าน

ผลิตภัณฑ์ไฮเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของวิสาหกิจในเขตเศรษฐกิจใหม่วั่งเฉิง

เพราะการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้หูหนานในวันนี้มีการพัฒนาและความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีวั่งเฉิง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองฉางซา เป็นเขตเศรษฐกิจเปิดใหม่ที่ยึดหลักดำเนินการตามแผนพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวิสาหกิจจีนและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของตนบนพื้นที่ร่วม 969 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ อาทิ วิสาหกิจผลิตเตาติดผนังทำความร้อนด้วยแก๊ส ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและประหยัดพลังงาน โดยความร้อนที่เกิดจากแก๊สที่เผาไหม้ จะถูกเก็บกักไม่ปล่อยสู่บรรยากาศให้สูญเปล่า ถูกนำกลับมาใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ทำน้ำอุ่นสำหรับอาบหรือซักล้างอีกต่อหนึ่ง

หรือโรงงานผลิตใบเลื่อยสายพานสำหรับตัดวัสดุแข็งพิเศษ ที่สามารถใช้ในงานตัดชิ้นส่วนสร้างเครื่องบินได้ด้วยนั้น ก็มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากตลาดเอเชียและยุโรป

แต่เพราะหูหนานเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ของจีน ย้อนไปได้ถึงเมื่อกว่า 8,000 ปีก่อน เพราะมีการพบหลักฐานการตั้งรกรากของมนุษย์ยุคหินใหม่ที่นี่ จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาไปพร้อมกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโบราณของท้องถิ่นด้วย โดยที่อำเภอวั่งเฉิงของเมืองฉางซา ได้มีการขุดพบซากปรักหักพังเตาผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโบราณช่วงยุคปลายราชวงศ์ถังถึงต้นห้าราชวงศ์ "ถงกวานเหยา" ที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผากว่าหมื่นชิ้น เมื่อปี 1956 ซึ่งคาดว่าถูกทิ้งร้างเนื่องจากเกิดจลาจลชาวนา

(ซ้ายล่าง) แบบจำลองซากเตาเผาโบราณถงกวานเหยา

 (ขวาล่าง)แบบจำลองสภาพเดิม

 นักโบราณคดียกย่องให้เป็น "โรงงานผลิตเก่าแก่นับพันปีก่อนของโลก"

ต่อมาในปี 1957 ทางพิพิธภัณฑ์กู้กงได้ยืนยันว่า ที่นี่ถือเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องเคลือบดินเผาเขียนลายลงสีของโลก ซึ่งนับเป็นผลงานสร้างสรรค์ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะแต่เดิมเครื่องเคลือบจีนทางใต้จะเป็นเพียงสีเขียวเท่านั้น ส่วนจีนทางเหนือก็จะเป็นสีขาว แต่เครื่องเคลือบจากเตาถงกวานเหยากลับมีการประดิษฐ์คิดค้น ให้เขียนลายด้วยสีสันที่หลากหลายทั้งแดง น้ำตาล เขียว และฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการขุดพบเตาเผาโบราณที่นี่แล้ว 76 แห่ง โดยเตามังกรหมายเลขหนึ่ง "ถันเจียโพ(谭家坡)" ได้รับการยอมรับว่าเป็นเตามังกรสมัยถังที่คงสภาพเดิมไว้ได้สมบูรณ์ที่สุดในโลก

(บน) การเขียนลายแบบรูปธรรม(นก แมลง ใบไม้)

(ล่าง) การเขียนลายแบบนามธรรม

และเพื่อให้การอนุรักษ์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผลอย่างจริงจังพร้อมกับการพัฒนา จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานดูแลรับผิดชอบขึ้นเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รับรองผู้ที่มาเยี่ยมชม และทำการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงชาวบ้านโดยรอบที่จะได้รับประโยชน์ด้วย

 

หูหนานกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040