ตำรวจตุรกีสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เหตุระเบิดครั้งนี้น่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มไอเอส เพราะฝีมือของผู้ก่อเหตุเหมือนกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในเมือง ซูรูก (Suruc) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลตุรกีชี้ว่าผู้ก่อเหตุระเบิดในครั้งนี้ก็เป็นกลุ่มไอเอส
นับแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ภายในดินแดนตุรกีเกิดเหตุก่อการร้ายหลายสิบครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะภายหลังจากรัฐบาลตุรกีประกาศระดมการโจมตีกองกำลังติดอาวุธพรรคแรงงานชาวเคิร์ดและกลุ่มไอเอสภายในดินแดนซีเรียตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นมา ก็เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเหตุระเบิดพลีชีพที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมานี้นั้น เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้สถานการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายของตุรกีตึงเครียดขึ้นทันที รัฐบาลตุรกีคงต้องรับภาระหนักขึ้นในด้านการโจมตีลัทธิก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงทั้งในและนอกประเทศ
นอกจากนั้น การเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พรรคยุติธรรมและการพัฒนาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลไม่สามารถครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาได้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมต้องล้มเหลว และการที่ นายเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายนศกนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปใกล้จะมาถึง พรรคฝ่ายต่างๆ เข้าสู่ช่วงสำคัญของการหาเสียง เหตุระเบิดอังการาย่อมจะส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งทั่วไป และกระตุ้นความผันผวนของสถานการณ์การเมืองตุรกี
(Doon/Lin)