กรุงเทพฯ – มณฑลซานตงถือว่าเป็นบ้านเกิดที่สำคัญของอารยธรรมจีน เป็นมณฑลที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญของจีนอย่าง "ขงจื่อ" งานปีวัฒนธรรมมณฑลซานตง ประเทศจีน 2015 ได้เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 โดยภายในงานมีแขกผู้ใหญ่ทั้งจากฝั่งจีนและไทยเข้าร่วมงาน อาทิ นายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายหวาง ซูเจียน รองผู้ว่าราชการมณฑลซานตง, นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ฯลฯ ส่วนผู้เข้าร่วมงานมีทั้งนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและนอกกรุงเทพฯ,ตัวแทนจากบริษัทเอกชนไทย-จีน, ผู้สนใจรวมทั้งสื่อมวลชนหลายแขนง
กิจกรรมในวันงาน มีหลากหลายให้เลือกร่วมได้ตามความสนใจ เช่น การจัดสัมมนาวิชาการหนีซัน, นิทรรศการภาพเขียนของศิลปินซานตง, ห้องสมุดหนีซันและการเปิดป้ายวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน
นอกจากนี้ยังได้มีการลงนามสัญญาความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษาและการวิจัยระหว่าง 2 ประเทศจีน-ไทย โดยมีผู้ร่วมลงนามทั้งหมด 5 ฝ่าย ได้แก่ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ซิงต่าวและบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ป จำกัด
ในการนี้เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางด้านยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ซิงต่าวและบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ปจำกัดได้ร่วมกันก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทยจีนและได้ฤกษ์ทำการเปิดป้ายในวันเดียวกัน
ห้องสมุดหนีซานหรืออีกชื่อว่าห้องสมุดขงจื่อที่ได้มาจัดตั้งที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนนี้ นับเป็นห้องสมุดหนีซานแห่งที่ 14 ของโลกและเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการมณฑลซานตงและกรมวัฒนธรรมมณฑลซานตงร่วมเปิดป้ายห้องสมุดหนีซาน
มณฑลซานตงมีศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนพู่กันจีน วาดภาพจีน รวมทั้งวาดภาพจีนร่วมสมัยเป็นจำนวนมาก จิตรกรร่วมสมัยชาวซานตงไม่เพียงแต่สามารถสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของจีน แต่ยังมีความกล้าที่จะแสวงหาความหมายและเทคนิคใหม่ สำหรับนิทรรศการภาพเขียนของศิลปินซานตงที่นำมาจัดแสดงนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและนวัตกรรมใหม่ของศิลปินร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น อ.จางลี่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานระหว่างภาพวาดจีนโบราณและภาพวาดตะวันตกสมัยใหม่ ด้วยเทคนิคเปลี่ยนรูปทรง จินตนาการ การใช้สีสดใสดึงดูด ลายเส้นหนา แสดงได้เห็นทั้งความคลาสสิคและทันสมัยในขณะเดียวกัน
ด้านกิจกรรมการสัมมนาหนีซาน หัวข้อในวันนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื่อ ศาสนาพุทธและการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมไทยจีน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿