สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวางกรอบการทำงานระยะยาวหลังปี 2020
ผู้นำจาก 147 ประเทศ และผู้แทนกว่า 10,000 คนจาก 195 ประเทศและองค์กรเอนจีโอ(NGO) 2000 องค์กรเดินทางไปเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้อตั้งความหวังให้บรรลุข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับสภาพของทุกฝ่าย และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย สำหรับเป้าหมายสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนอุตสาหกรรม ด้วยการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ นายโลรองต์ ฟาบิอุส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประธานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส ชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาอยากให้คำนึงถึงพันธกรณีที่ได้แบกรับ ในช่วงที่ผ่านมา และความสามารถที่มีอยู่ในขณะนี้ของแต่ละประเทศ ขณะพิจารณาการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ เช่น ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดโลกร้อน ซึ่งความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีเหตุมีผล และมีความชอบธรรม เขายังกล่าวว่า ขณะนี้ ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับหลักการทั่วไปในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ยังคงมีข้อขัดแย้งในแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม หากผู้ร่วมประชุมสามารถบรรลุความเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ เช่น งบประมาณ ความโปร่งใสในการปฏิบัติ ก็จะทำให้สามารถบรรลุอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในที่สุด
ช่วงประชุมที่เป็นเวลากว่า 10 วัน ผู้แทนจากรัฐภาคีต่างๆ จะพูดคุยในสองประเด็นหลักๆ คือ จะจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไร และ จะใช้วิธีการอย่างไรในการช่วยประเทศที่ยังไม่พร้อมในการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ทั้งเรื่องช่วยระดมเงิน และช่วยให้เดินบนหนทางการพัฒนาคาร์บอนต่ำ
นายโลรองต์ ฟาบิอุส ประธานการประชุมครั้งนี้ยังกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะหารือในประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น ยังจะพูดคุยถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตามกรอบสนธิสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติด้วย
(YIM/cai)