คุยกับผู้บริหารกฟผ.- 46 ปีแห่งความภูมิใจ
  2016-03-01 20:54:34  cri

ไฟฟ้าได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราไปอย่างที่ใครๆก็แทบจะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่ตื่นนอน ไปทำงาน เรียนหนังสือ จนถึงเข้านอน กิจกรรมแทบทุกอย่างของเราต้องเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตไฟฟ้ามาให้เพียงพอแก่คนไทยทั้งประเทศได้ใช้อย่างสะดวกสบาย

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2559) เรามีนัดกับทางผู้บริหารของกฟฝ. คุณสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ – ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและคุณสหรัฐ บุญโพธิภักดี - รองผู้ว่าการกิจการสังคมมาบอกเล่าถึงเรื่องราวและเส้นทางอันน่าภาคภูมิใจของกฟผ. ตลอดระยะเวลา 46 ปีที่ผ่านมา

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เริ่มต้นจากโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตแค่ 900 เมกะวัตต์ มาถึงปัจจุบันกฟผ.มีกำลังการผลิตมากกว่า 37,000 เมกะวัตต์ (ไม่นับรวมแหล่งผลิตรายเล็กหรือรายย่อย)

กฟผ. มุ่งหวังให้ตนเองเป็นองค์กรที่เป็นมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ ก้าวขึ้นไปยืนเทียบชั้นโรงไฟฟ้าระดับโลกอย่างมีชั้นเชิง โดยเป้าหมายล่าสุดอยากจะติด 25 อันดับแรกของโรงไฟฟ้าที่เป็นเลิศที่สุดในโลก และเนื่องจากเป็นองค์กรที่พัฒนาเกี่ยวกับพลังงาน กฟผ.จึงอยากทำให้เสียงสะท้อนในเชิงลบที่มีต่อองค์กรในแง่สิ่งแวดล้อมลดลงตามลำดับ

ยุทธศาสตร์ 5 อย่างที่ทางกฟผ. ยึดมั่นและใช้เป็นแนวทาง คือ 1. การมีธรรมภิบาล – ด้วยการทำให้องค์กรห่างไกลจากการคอรัปชั่น 2. การเน้นคุณภาพ – โดยการนำหลัก TQM (Total Quality Management) หรือการบริหารคุณภาพโดยรวมเข้ามาใช้ในองค์กร 3. การกำกับดูแลองค์กร ยกให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือเป็นต้นแบบให้แก่โรงไฟฟ้าอื่นๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพและประหยัดงบ 4. การบริหารการเงิน – เนื่องจากราคาค่าไฟ ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กฟผ.จึงไม่ได้มีกำไรมาก มีรายได้แค่พอไปลงทุนต่อยอดและพัฒนาสำหรับโครงการใหม่ด้านการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และ 5. การมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม – ดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการผลิตไฟฟ้า

ส่วนนโยบายที่กฟผ.นำมาใช้กับทั้งในองค์กรและความร่วมมือระหว่างองค์กรอย่างโครงการกับชุมชนต่างๆ คือ นโยบาย 3 อ ได้แก่ อุปนิสัย, อุปกรณ์ และ อาคาร ซึ่งทั้ง 3 อ นั้นจะเน้นและนำไปสู่การประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ชุมชนและประเทศนั่นเอง

ด้านความสัมพันธ์กับการไฟฟ้าของจีน กฟผ.มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานจากจีน โดยเฉพาะ China Southern Power Grid (CSG) หรือชื่อจีนว่า 中国南方电网 มีการประชุม,ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าและไปมาหาสู่กันเสมอ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนไฟฟ้าจากจีนมาไทยรวมถึงการซื้อพลังงานจากจีน โครงการความร่วมมือล่าสุดคือการที่ราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฟผ.ไปร่วมลงทุนทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฝางเฉิงกั่ง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี ประเทศจีน ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เรียนรู้จากจีนในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และศึกษาผลกระทบต่างๆโดยเฉพาะเรื่องที่ชาวไทยมีความกังวลกันมากคือเรื่องความปลอดภัย ขณะเดียวกันจีนที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานยังสามารถเพิ่มขีดจำกัดในเรื่องการทำคู่มือหรือ Operation Manual รวมถึงการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบตามข้อสัญญาให้ครอบคลุมได้ดียิ่งขึ้น

โครงการบ้านคลองเรือ จ.ชุมพร ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่กฟผ.ได้ลงไปร่วมมือกับคนในท้องถิ่นให้ผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานน้ำตก มีประสิทธิภาพและปริมาณเพียงพอที่จะใช้กันในหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 หลังคาเรือน โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่ดี โดยทางกฟผ.มีส่วนในด้านการให้ความรู้เรื่องวิชาการและสนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในขณะที่ทางชุมชนเองก็ลงแรงและอุปกรณ์พื้นฐานรวมถึงเงินทุนจำนวนหนึ่ง ผลที่ได้รับออกมาน่าพอใจมาก อย่างไรก็ตาม การเข้าไปร่วมมือเพื่อกระตุ้นในคนในท้องถิ่นผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในชุมชนนั้นยังมีอุปสรรคอยู่มากโดนเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายซึ่งสถานที่ของแหล่งกำเนิดพลังงานอาจจะไปทับซ้อนกับพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนหรือเขตหวงห้ามได้

ทุกครั้งที่กฟผ.ลงพื้นที่หรือร่วมมือกับชุมชน จะมี 3 สิ่งที่เน้นเป็นอย่างมากคือเรื่องของเศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อมและสังคม ความสามัคคีกันของคนในชุมชน ความกินดีอยู่ดีและสุขภาพยังเป็นหัวใจหลักที่องค์กรยึดมั่นด้วยความมุ่งหวังที่อยากจะพัฒนาประเทศไปพร้อมๆกับให้ชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสมบูรณ์

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040