ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในวันเดียวกัน นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า จีนกับ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงมีภูเขาแม่น้ำที่เชื่อมถึงกัน มีผลประโยชน์ร้อยเรียงกันอย่างแนบแน่น ด้วยพื้นฐานความร่วมมือที่แข็งแกร่ง จึงมีความพร้อมในการวางรากฐานสำคัญของกลไกลความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า "เราควรใช้กลไกนี้ในการก่อตั้งกรอบความร่วมมือที่สอดคล้องกับสามเสาของอาเซียน ได้แก่ ความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรม ให้พัฒนาร่วมกันอย่างกลมกลืนกัน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือด้านการเชื่อมสัมพันธ์ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจข้ามพรมแดน การเกษตร และการลดความยากจนมาเป็นอันดับแรก"
นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า ควรยึดการพัฒนาเป็นเป้าหมายแรกในการร้อยเรียงความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แปรลักษณะการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจเป็นแรงสนับสนุนการพัฒนา ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมด้วยวิธีการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปัน เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน
สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า
"ประชุมได้ผ่าน 'ปฏิญญาซานย่า' ของการประชุมผู้นำความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งแรก โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนากลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในอนาคต ได้ร่างพิมพ์เขียว ตลอดจนได้ผ่านแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตของประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ทั้งนี้ ยังได้ผ่านบัญชีโครงการเออร์ลี่ ฮาร์เวสต์ (Early Harvest) เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ บรรลุผลโดยเร็ว และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่น"
สำหรับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า จีนยินดีร่วมกับประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้นำประเทศต่างๆ ที่ร่วมประชุมระบุว่า การจัดประชุมผู้นำความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงมีความหมายเชิงหลักไมล์ สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาร่วมกันของทุกประเทศ
(TOON/LING)