ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้ง มักมีประเด็นสงสัยต่างๆ ผุดขึ้นมาพร้อมกันด้วย อาทิ หลายคนเห็นว่าข้อกำหนดระยะเวลาใช้พื้นที่สุสานสาธารณะจำกัดไว้ที่ 20 ปีนั้นออกจะสั้นเกินไป บ้างก็ว่าทำไมจ่ายเงินซื้อที่สุสานแล้วจึงไม่สามารถใช้ได้งานได้ตลอด เป็นต้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงว่าระยะเวลา 20 ปีนั้น ไม่ใช่เมื่อครบกำหนดแล้วต้องคืนพื้นที่ทันที ญาติมิตรของผู้ตายสามารถจ่ายเงินเพื่อต่อสัญญาออกไปได้เรื่อยๆ และที่ต้องมีการกำหนดหรือตั้งกฎระเบียบเข้มงวดต่างๆ นั้น ก็เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาคนเป็นกับคนตายแย่งพื้นที่กัน เป็นต้น
สำหรับการฝังศพเชิงนิเวศในปักกิ่ง เช่น การเผาแล้วนำอัฐิผู้ตายฝังใต้โคนต้นไม้แทนการสร้างสุสานใหญ่โต ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เทียบกันแล้วผู้สูงอายุส่วนใหญ่กลับยอมรับเรื่องนี้ได้มากกว่าคนรุ่นลูกด้วยซ้ำ
ช่วงเช็งเม้งที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ปักกิ่งเดลี่ได้สอบถามความคิดเห็นของชาวปักกิ่งที่เดินทางมาเคารพบูชาบรรพบุรุษตามจุดสำคัญต่างๆ อาทิ สุสานสาธารณะปาเป่าซาน ลานรำลึกลอยอังคารบรรพชนสวนฉางชิงหยวน ที่มีต่อการนำอัฐิของพ่อแม่ไปลอยอังคารเป็นจำนวน 112 คน ปรากฏว่ามี 61 คนระบุว่ายังทำใจยอมรับกับวิธีการนี้ไม่ได้ และว่าแม้ผู้เป็นพ่อหรือแม่เคยเอ่ยปากว่าให้ทำก็ตาม เพราะไม่ต้องการสร้างความลำบากให้ลูกหลาน ต้องคอยเดินทางไปปัดกวาดหลุมศพกันทุกปี แต่ก็ยังมีชาวเมืองเกือบ 40 คนบอกหวั่นใจว่า การนำอัฐิพ่อแม่ไปลอยอังคารนั้นจะถูกคนรอบข้างครหาว่าเป็นลูกอกตัญญู และมีหลายคนเอ่ยปากยอมรับว่า ยังไม่อยากถกประเด็นเรื่องเป็นตายกับพ่อแม่ในตอนนี้ด้วยซ้ำ
รายงานข่าวยังระบุว่า สำหรับครอบครัวชาวจีนที่มีประสบการณ์นำอัฐิญาติไปลอยอังคารที่ทะเลมาก่อน ย่อมจะสามารถยอมรับการฝังศพเชิงนิเวศได้ง่ายกว่า ผู้ตอบสัมภาษณ์จำนวน 27 คนระบุว่าหลังได้ร่วมพิธีแล้วรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ทรงเกียรติอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนแรกรับไม่ได้กับการนำอัฐิญาติมิตรไปลอยทะเลเช่นกัน แต่เมื่อผู้สูงอายุในบ้านกำชับสั่งเสียไว้จึงปฏิบัติตาม "มีท้องทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็นเสมือนบ้านหลังสุดท้าย ทั้งสวยงามและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นความรู้สึกที่ดีไม่น้อย" หลายคนยอมรับว่าหลังกลับมาแล้ว เกิดความคิดที่จะให้ญาติมิตรนำอัฐิของตนโปรยลงทะเลด้วย
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府