ศ.เหยา จี้เต๋อ หัวหน้าโครงการวิจัยแผนที่โบราณของอิหร่านฝ่ายจีน สถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหยุนหนานให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมภาพถ่ายแผนที่โบราณอิหร่านบางส่วน ซึ่งประกอบด้วยแผนที่ภูมิประเทศต่างๆ ของโลก แผนที่ลูกโลก และแผนที่แบบแบนราบ ตามความรับรู้ต่อภูมิประเทศของโลกและถือเอาเปอร์เซียเป็นศูนย์กลาง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจากสถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหยุนหนานระบุว่า แผนที่โบราณของอิหร่านดังกล่าวและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้ในยุคโบราณเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เป็นหลักฐานประเภทเอกสารจาก "ฝ่ายที่ 3" ที่มีน้ำหนักในการยืนยันว่าจีนมีอธิปไตยเหนือเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้
ศ.เหยา จี้เต๋อระบุว่า แผนที่โบราณของอิหร่านกว่า 50 ฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 10-17 (ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์หยวนของจีน) เป็นเวลากว่า 800 ปี เก็บสะสมไว้ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเตหะราน หอสมุดรัฐสภาอิหร่าน และหอจดหมายเหตุแห่งชาติอิหร่าน
จนถึงขณะนี้หน่วยผู้เชี่ยวชาญได้ทำการรวบรวมและระบุอย่างเป็นระบบต่อแผนที่โบราณกว่า 50 ฉบับดังกล่าว โดยได้แปลเป็นฉบับภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ผลการวิจัยเบื้องต้นระบุว่า แผนที่โบราณของอิหร่านดังกล่าวล้วนระบุถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า "ทะเลจีน" หรือ "อ่าวจีน"
(IN/LING)