รองศาสตรจารย์กง หยิงชุน จากวิทยาลัยการต่างประเทศกล่าวว่า การที่ฟิลิปปินส์ยื่นปัญหาทะเลหนานไห่ต่อศาลโลกโดยลำพังฝ่ายเดียวนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมายสากล และเป็นการใช้กระบวนการบังคับแก้กรณีพิพาทตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลย่างพร่ำเพรื่อ การจะใช้กระบวนการแก้กรณีพิพาท ก็ต่อเมื่อกรณีพิพาทนั้นเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในอนุสัญญาดังกล่าว จีนเห็นว่าต้นตอของปัญหาคือข้อพิพาทเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่อนุสัญญาฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ และไม่มีอำนาจตัดสิน
นายหู โป นักวิจัยสถาบันทะเลศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่งเห็นว่า ศาลโลกพิพากษาคดีตามกฎหมายสากลและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลนั้น มีข้อบกพร่องด้านกฎหมายอ้างอิง เพราะ หนึ่ง อนุสัญญาดังกล่าวไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาอธิปไตยเหนือดินแดน สอง ปี 2006 จีนประกาศคำแถลงว่า ไม่ยอมรับการตัดสินคดีเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนทางทะเลขององค์กรใดๆ ทั้งสิ้น คดีทะเลหนานไห่แท้ที่จริงแล้วคือปัญหาอธิปไตยเหนือดินแดนและปัญหาการปักปันเขตแดนทางทะเล สาม จีนกับฟิลลิปปินส์มีข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะหนานซา แต่สองฝ่ายไม่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์ไม่เคยเจรจาเรื่องนี้กับจีน อยู่ๆ ก็ยื่นให้ศาลโลกตัดสิน
ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศประกาศผลการพิพากษาคดีทะเลหนานไห่ อาจสร้างภาพลักษณ์ทางลบให้กับจีนในประชาคมโลก อีกทั้งจะท้าทายการกำหนดกฎเกณฑ์ทางทะเลที่ถืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเป็นหลัก ความรับรู้ร่วมกันหลายประการระหว่างประเทศต่างๆ ขณะร่วมกันลงนามในอนุสัญญาอาจสูญหายไปเพราะคดีนี้