ไทยเปิดเดินขบวนรถรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ในเส้นทางกรุงเทพ-นครปฐม
  2016-09-16 19:48:20  cri

กรุงเทพฯ - การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เปิดเดินขบวนรถรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ในเส้นทางกรุงเทพ-นครปฐม เป็นการยกระดับการบริการให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพบริการ มีภาพลักษณ์การให้บริการที่ดีและเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการและได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยช่วง 3 เดือนแรกราคาจะใกล้เคียงกับของเดิม และจะมีการพิจารณาเรื่องราคาอีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากที่สุด

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดเดินขบวนรถใหม่และเคาะระฆังส่งสัญญาณระหว่างปล่อยขบวนรถ เที่ยวปฐมฤกษ์ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ หัวหน้าหน่วยงาน ส่วนราชการ และคณะผู้บริหารการรถไฟฯ ร่วมในพิธีเปิดและร่วมเดินทางไปกับขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างกรุงเทพ-นครปฐม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า การจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟฯ สอดคล้องกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟฯ วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 วงเงินลงทุน 4,981.05 ล้านบาท และที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้มีพิธีรับมอบรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์รอบแรก 39 คัน จากทั้งหมด 115 คัน จากบริษัท CRRC (China Railway Rolling Stock Corporation) หรือ CRC (Changchun Railway Vehicles Company Limited) บริษัทคู่สัญญา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา และมีการทดสอบการเดินรถทั้งระยะใกล้ และระยะไกลมากว่า 1 เดือน ก่อนจะนำมาเปิดให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ เส้นทางกรุงเทพ -เชียงใหม่ ได้เป็นเส้นทางแรกในเดือนตุลาคม 2559

การเปิดการเดินรถโดยสารชุดใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ถือเป็นมิติใหม่ของการรถไฟฯ ที่มีการเริ่มเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉม ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการรถไฟฯ ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ในอนาคตการรถไฟฯ จะพัฒนาองค์กรไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางอย่างจริงจัง เพราะทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญและเล็งเห็นตรงกันว่า ถ้าระบบรางมีความสมบูรณ์สามารถขยายระบบทางคู่ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ จะสามารถตอบโจทย์ของการขนส่ง แก้ไขปัญหาเรื่องการจราจร และจากยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จะช่วยยกระดับการขนส่งทางรถไฟ ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุน ทำให้การขนส่งระบบรางกลับมาเป็นทางเลือกสำคัญของประชาชนคนไทยอีกครั้ง

นายหลิวกัง รองผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของ CRC เปิดเผยว่ารู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่การรถไฟไทยเลือกผู้ผลิตจากประเทศจีน โดยแต่ก่อนไทยจะจัดซื้อรถไฟที่มาจากยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ฯลฯ การที่เลือกรถไฟจากจีนแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในเทคโนโลยีด้านรถไฟของจีนและการพัฒนาอย่างก้าวหน้าของวงการอุตสาหกรรมรถไฟจีน ซึ่งทางเราเองก็ได้ใช้นวัตกรรมที่ดีที่สุดออกแบบและผลิตเพื่อให้ตรงตามความต้องการของไทยและแน่นอนว่าได้มาตรฐานแบบสากล มั่นใจได้ในคุณภาพ

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ เสริมว่า รถโดยสารชุดใหม่นี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนรถไฟ เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่มีการจัดหารถโดยสารใหม่ มากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ดังนั้น การดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่ชุดนี้ จึงถือเป็นย่างก้าวสำคัญของการรถไฟฯ ในการเปลี่ยนแปลงการให้บริการรถโดยสารให้ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย รถไฟขบวนพิเศษแต่ละเที่ยวนี้จะประกอบไปด้วยรถ Power Car ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟให้รถโดยสาร ทั้งขบวน จำนวน 1 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 2 จำนวน 9 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถวีลแชร์ จำนวน 1 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้น 1 ระดับเฟิร์สคลาส จำนวน 1 คัน และรถขายอาหารปรับอากาศ จำนวน 1 คัน ภายในรถมีระบบการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ติดตั้งระบบสัญญาณ Wi-Fi ติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งข้อมูลข่าวสารพร้อมเครื่องขยายเสียง ปุ่มเรียกพนักงานฉุกเฉิน ห้องอาบน้ำ ปรับปรุงห้องสุขาใหม่ให้มีระบบเก็บสิ่งปฏิกูล เป็นต้น ขบวนรถนี้สามารถวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากใช้ทางคู่กับโครงการรถไฟทางคู่ที่แล้วเสร็จ จะสามารถเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น 3 ชั่วโมง

นายวุฒิชาติฯ เพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ จะนำขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่มาวิ่งเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ ใน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพ–เชียงใหม่ กรุงเทพ-อุบลราชธานี กรุงเทพ-หนองคาย และกรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับวันละ 2 ขบวนต่อวัน รวม 8 ขบวน ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ ประมาณ 0.9 ล้านคนต่อปี มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 785.1 ล้านบาท (ปีที่ 1) อายุโครงการ 25 ปี

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040