วันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นเทศกาล "หันอี(寒衣节)" 1 ใน 4 เทศกาลบวงสรวงเซ่นไหว้ของจีน ร่วมกับชิงหมิง(清明 เชงเม้ง) ซ่างซื่อ(上巳) และจงหยวน(中元) ซึ่งคำว่า "หันอี" แปลว่าเสื้อกันหนาว เทศกาลหันอีเป็นวันที่ส่งเสื้อกันหนาวให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นเทศกาลเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษที่มีมาแต่ดั้งเดิมของจีน เริ่มขึ้นตั้งแต่ราชวงศ์โจว ห่างจากปัจจุบันประมาณ 3,000 ปีแล้ว เป็น 1 ใน 4 "วันไหว้ผี" ของจีน และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ฤดูหนาวมาแล้ว เป็นวันที่เผา (ส่ง) เสื้อกันหนาวให้กับผู้ตาย และมอบเสื้อกันหนาวแสดงกตัญญูให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตด้วย
ตามความเชื่อของคนจีน เห็นว่าญาติมิตรที่เสียชีวิตแล้ว วิญญาณจะไม่ดับสูญ ยังวนเวียนอยู่ในโลกวิญญาณ ในช่วงที่จะย่างเข้าฤดูหนาวนั้น จึงต้องส่งเสื้อกันหนาวไปให้ เพื่อแสดงความอาลัยและระลึกถึง ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมา การให้เสื้อกันหนาวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะส่งเสื้อกันหนาวให้กับผู้ที่เสียชีวิตแล้วเท่านั้น ที่สำคัญกว่านี้คือ มอบเสื้อกันหนาวให้กับผู้ใหญ่หรือคนอื่น เล่ากันว่า สมัยต้นราชวงศ์หมิง เมื่อฮ่องเต้จู หยวนจางเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้จัดพิธีแจกเสื้อผ้า และนำถั่วแดงกับข้าวเหนียวมาปรุงเป็นข้าวต้มร้อนๆ แจกให้ขุนนางรับประทาน หลังจากนั้นมา ในเทศกาลหันอี จึงไม่เพียงแต่เผาเสื้อกระดาษให้กับผู้ที่เสียชีวิตเท่านั้น ยังมีการมอบเสื้อกันหนาวให้กับญาติมิตรที่อยู่ในต่างถิ่น เพื่อถ่ายทอดความคิดถึงและห่วงใยกันด้วย
ปัจจุบัน ปักกิ่งยังมีประเพณีส่งเสื้อกันหนาวให้กับผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ก่อนวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ตามจันทรคติของจีน ชาวปักกิ่งมักจะไปซื้อกระดาษสีที่มีลายดอกไม้ ส่วนใหญ่เป็นสีชมพู เหลือง แดง และน้ำเงินที่มีลายดอกโบตั๋น เบญจมาศหรือผีเสื้อ หรือเป็นสีเรียบ ตัดเป็นรูปเสื้อผ้า กางเกง หมวก และรองเท้า รวมกับเงินกระดาษและก้อนเงินก้อนทองกระดาษเผาเซ่นไหว้ผู้ตาย และที่บ้าน มักเตรียมเกี๊ยวน้ำ 3 ถ้วย ผลไม้ ขนม กับข้าวต่างๆ พร้อมจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ บางคนจะนำสิ่งของต่างๆ ไปไหว้ที่สุสานด้วย
การเตรียมของเซ่นไหว้มักทำในช่วงเช้า และกระดาษที่จะเผาเซ่นไหว้นั้น ต้องมี 5 สี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาวและดำ หลังรับประทานอาหารเที่ยงเรียบร้อย ทั้งครอบครัวก็จะไปเซ่นไหว้และเผาเสื้อกระดาษที่สุสานกัน ถึงสุสานแล้ว จะจุดธูปเทียน วางเกี๊ยวน้ำ และอาหารต่างๆ ที่เตรียมไว้หน้าสุสาน ทั้งครอบครัวลงนั่งคุกเข่ากราบไหว้ แล้วขีดเส้นวงกลม วางกระดาษ 5 สี เงินกระดาษ และเสื้อกระดาษไว้ในวงกลม เผาให้หมด หมายถึงส่งไปถึงผู้เสียชีวิตที่อยู่ในโลกวิญญาณแล้ว
สิ่งที่ต้องระมัดระวังในเทศกาลหันอี
ต้องเผาของทุกอย่างให้หมด ถึงจะกลายเป็นเสื้อผ้า เงินหรือของใช้ในโลกวิญญาณได้ สำหรับชาวฮั่น ยังเน้นว่าต้องเผาที่สี่แยก หมายถึงนอกจากส่งให้ญาติมิตรที่เสียชีวิตแล้ว ยังมีให้กับผู้ที่เสียชีวิตอื่นๆ ด้วย
เทศกาลชิงหมิง (清明节เชงเม้ง) เป็นวันที่ลูกหลานชาวจีนจะไปกราบไหว้ทำความสะอาดสุสาน ระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันที่ 5 เมษายนของทุกปี มักมีฝนโปรยปรายในวันนี้ แสดงถึงความอาลัยรักและคิดถึงผู้ที่จากไปแล้ว เทศกาลชิงหมิงเป็นช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิของจีน ดินฟ้าอากาศเริ่มอุ่นขึ้น ต้นหญ้าอ่อนงอกจากดิน มีการแตกใบอ่อน ดอกไม้บาน ชาวจีนนอกจากไปเซ่นไหว้ผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ยังมักถือโอกาสนี้ออกไปเที่ยวชานเมืองหรือชมวิวฤดูใบไม้ผลิในสวนสาธารณะในเมือง
เทศกาลซ่างซื่อ(上巳节) ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำตามปฏิทินจันทรคติของจีน ปัจจุบันมักเรียกว่า หนีว์เอ๋อเจี๋ย(女儿节) เล่ากันว่า วันนี้เป็นวันประสูติของหวางตี้(黄帝) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติจีน สมัยโบราณ ผู้คนจะใช้ดอกและต้นกล้วยไม้ต้มน้ำ เพราะนอกจากส่งกลิ่นหอมแล้ว ยังเชื่อว่า น้ำต้มกล้วยไม้สามารถขจัดสิ่งอัปมงคลได้ ต่อมา กลายเป็นเทศกาลเฉพาะสำหรับหญิงสาว โดยเฉพาะเป็นเทศกาลแสดงถึงการโตเป็นสาวของเด็กหญิงชาวฮั่น สาวๆ จะอาบน้ำกล้วยไม้ แต่งชุดสวยงาม ร้องรำทำเพลงริมแม่น้ำ เที่ยวชมวิวฤดูใบไม้ผลิและขออธิษฐานให้มีความสุขตลอดชีวิต
เทศกาลจงหยวน (中元节) วันสารทจีน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันไหว้ผีที่ใหญ่ที่สุดของจีน สมัยโบราณเป็นเทศกาลสำคัญอันดับที่ 2 ของจีน ต่อจากตรุษจีน ปัจจุบันมีความสำคัญลดลง เล่ากันว่า ในวันนี้ ประตูนรกจะเปิด ภูตผีปีศาจทั้งหลายจะกลับมาสู่โลกมนุษย์ได้ และช่วงนี้ย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยว คนจีนมักเอาธัญญหารหรือผลไม้ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ไปเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไป หรือให้ภูตผีปีศาจทั้งหลาย โดยมีการเผาเงินกระดาษให้ผู้ที่เสียชีวิตแล้วด้วย