เขตไห่เตี้ยนประกาศว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไห่เตี้ยนจะปิดกิจการที่ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาของเขตตามลำดับ และจะโยกย้ายสถานศึกษา สถานพยาบาล และสถานที่ฝึกอบรมจำนวนหนึ่งออกไป และตั้งเป้าหมายการควบคุมว่า ถึงปี 2020 ประชากรประจำเขตลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2014
ถึงปัจจุบัน เขตซุ่นอี้ได้ปรับหรือปิดกิจการของวิสาหกิจที่ก่อมลภาวะสูง 50 แห่ง และเรียกคืนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 866,000 ตารางเมตร โยกย้ายผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกว่า 2,900 คน ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องระบุว่า ปี 2017 เขตซุ่นอี้จะเสริมการควบคุมประชากรในเขตให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยจะควบคุมยอดประชากรอย่างมีประสิทธิผลด้วยการประเมินผลข้อมูลขนาดใหญ่ เขายังกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ด้วยการบริหารประชากร เขตซุ่นอี้จะควบคุมประชากรประจำเขตให้ไม่เกิน 1, 300,000 คน
เขตเฟิงถายได้กำหนดมาตรการที่มีประเด็นหลักว่า "การบริหารประชากรด้วยบ้าน การบริหารประชากรด้วยบัตร การควบคุมประชากรด้วยงาน" และตั้งเป้าหมายว่า ถึงปี 2020 ประชากรประจำเขตเฟิงถายจะลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2014
ส่วนเขตต้าซิงได้กำหนดแผนควบคุมประชากรอย่างรอบด้าน เนื่องจากเขตต้าซิงกำลังก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่กรุงปักกิ่งอยู่ ซึ่งกดดันให้เขตนี้ต้องควบคุมประชากรอย่างหนัก ทางการเขตต้าซิงจึงประกาศใช้มาตรการต่างๆที่เสริมการควบคุมประชากรทุกด้าน เพื่อป้องกันและรับมือกับการเคลื่อนย้ายไปยังทิศใต้ของประชากรจำนวนมาก ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปเขตต้าซิงระบุว่า คาดว่าประชากรประจำเขตต้าซิงในปี 2016 จะควบคุมไว้ให้ไม่เกิน 1,700,000 คนได้
เขตที่ดึงดูดความสนใจอีกที่คือ เขตทงโจว ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางกรุงปักกิ่งแห่งที่ 2 ตามแผนพัฒนาของเขตทงโจว ปีนี้จะโยกย้ายประชากรในตัวเมืองประมาณ 4 แสนคน และตั้งเป้าหมายว่า ในอนาคตจะควบคุมประชากรประจำไว้ไม่เกิน 2 ล้านคน
มาตรการโยกย้ายประชากรของกรุงปักกิ่งทำให้ผู้คนไม่น้อยสงสัยว่า ปักกิ่งกำลังไล่คนออกอยู่หรือ? ศาสตราจารย์หยาง คายจงมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า รูปแบบการควบคุมประชากรสามารถแบ่งออกเป็นสองอย่าง ได้แก่ การควบคุมโดยตรงและการควบคุมโดยอ้อม การควบคุมโดยตรงหมายถึง รัฐบาลบังคับให้บุคคลหรือครอบครัวย้ายเข้าหรือย้ายออกจากเมือง โดยผู้คนไม่มีสิทธิ์เลือก ส่วนการควบคุมโดยอ้อมหมายถึง รัฐบาลปรับเงื่อนไขอื่นๆเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการวางแผนหรือการคัดเลือกของส่วนบุคคลที่ว่า ย้ายเข้าหรือย้ายออกจากเมือง ตั้งแต่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา รัฐบาลและทางการท้องถิ่นนิยมใช้มาตรการควบคุมโดยอ้อม ผู้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเลือกอย่างเต็มที่ว่าจะอยู่ต่อหรือย้ายถิ่น
สังเกตได้ว่า เนื่องจากปักกิ่งมีประชากรและสิ่งอำนวยความสะดวกโอกาสมากระจุกตัวมากเกินควร จึงเกิดปัญหาต่างๆที่นับวันเลวร้ายลง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ ทางการปักกิ่งจึงตกลงออกมาตรการควบคุมต่างๆ รวมถึงการควบคุมประชากร ศาสตราจารย์หยาง คายจงชี้ให้เห็นว่า การควบคุมดังกล่าวไม่ควรเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการโยกย้ายประชากรหรือไล่คนอย่างเดียว หากเป็นส่วนหนึ่งของแผนโดยรวมเพื่อสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของกรุงปักกิ่งในระยะยาว ซึ่งต้องสร้างประโยชน์แก่พลเมืองปักกิ่งในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น