คนที่อยู่ในกรุงปักกิ่งต่างยอมรับกันว่า ปักกิ่งมีคนเยอะมากจริงๆ ทุกเช้า คนที่ออกจากบ้านไปทำงานต้องเดือดร้อนมาก คนที่ขับรถเองต้องเจอปัญหารถติดระหว่างทาง ส่วนคนที่นั่งรถเมล์หรือรถไฟใต้ดิน ต้องเบียดเสียดฝูงชนทุกวัน มีคนไม่น้อยล้อกันว่า การไปทำงานหรือกลับบ้านโดยนั่งรถไฟใต้ดินนั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก หากไม่มีร่างกายแข็งแรง ก็อาจจะถูกเบียดจนแบนกลายเป็น "รูปถ่าย" ได้
ที่จริง สภาพเช่นนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ในปักกิ่งแต่เพียงที่เดียวเท่านั้น เมืองใหญ่พิเศษในจีนทุกแห่งก็เช่นกัน จนถึงปัจจุบัน ประชากรที่ประจำปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจวมีทั้งหมดเกือบ 60 ล้านคน นับวันเผชิญกับความกดดันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมืองใหญ่เหล่านี้ทยอยกันออกนโยบายควบคุมจำนวนการเคลื่อนย้ายประชากร ซึ่งทำให้ความกดดันด้านประชากรผ่อนคลายในระดับหนึ่งแล้ว
สถิติระบุว่า ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเที่ยบกับปี 2014 จำนวนพลเมืองในปี 2015 เพิ่มขึ้น 189,000 คน แต่อัตราการเพิ่มลดต่ำลง ขณะเดียวกัน ประชากรประจำลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับปี 2010
ที่นครเซี่ยงไฮ้ จำนวนประชากรประจำในปี 2015 ลดลง 104,100 คนเมื่อเทียบกับปี2014 นับเป็นการลดลงครั้งแรกของศตวรรษที่ 21
ที่เมืองกว่างโจว ในระหว่างปี 2010-2014 จำนวนประชากรประจำเพิ่มขึ้นแค่ 3 แสนคนเท่านั้น ซึ่งอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรได้ลดต่ำลงแล้ว
การเติบโตด้านประชากรในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และกว่างโจวจะเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า อัตราการเติบโตตามธรรมชาติของประชากรในเมืองใหญ่พิเศษของจีนกำลังลดลงจริงๆ ทั้งนี้พิสูจน์ได้ด้วยข้อมูลหลักฐานหลายประการ รวมถึงจำนวนเด็กที่เข้าเรียนประถม และจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งมวลชนในเมือง เป็นต้น ส่วนสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่ที่นโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากรของเมืองใหญ่เหล่านี้
ด้านเป้าหมายผู้ที่ถูกเคลื่อนย้าย ผู้ที่เทศบาลพยายามขอร้องให้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบกิจการที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเมืองเหล่านี้ รวมถึงตลาดขายส่ง และธุรกิจระดับขั้นต้นหรือธุรกิจด้อยคุณภาพ ปัจจุบัน ในเขตนิคมนิวไฮเทคจงกวานชุนที่กรุงปักกิ่ง ร้านค้าอิเล็กทรอนิคขนาดเล็กส่วนใหญ่ถูกขอร้องให้ย้ายออก เหลือเพียงห้างอิเล็กทรอนิกขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งแล้ว นายเฉิน ผู้ทำความสะอาดในห้างอิเล็กทรอนิก "ติ่งห่าว" จงกวานชุนบอกว่า เขาทำงานในอาคารนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว ช่วงแรก ผู้ทำความสะอาดในอาคารนี้มีจำนวนกว่า 150 คน แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 100 คนแล้ว
ปีหลังๆนี้ ทางการปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจวต่างผลักดันการเคลื่อนย้ายประชากรออกจากตัวเมืองอย่างเต็มกำลัง องค์กรที่เกี่ยวข้องของเมืองเหล่านี้ล้วนเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก นายจัง เชอเหว่ย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจประชากรและแรงงานสภาวิทยาศาสตร์สังคมจีนเห็นว่า ขณะเศรษฐกิจของเมืองพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนในเมืองนี้ก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การบังคับให้ลดประชากรให้น้อยลงนั้น จึงยากกว่าการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเสียอีก