พระราชวังหวาชิง (华清池) เมืองซีอาน
ที่อยู่ไม่ไกลจากสุสานจิ๋นซี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง คือพระราชวังหวาชิง (华清池 หรือ 华清宫) เป็นที่แปรพระราชฐานหนึ่งใน 4 แห่งสำคัญที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน อีก 3 แห่งได้แก่ พระราชวังฤดูร้อน (颐和园) พระราชวังฤดูร้อนเดิม (圆明园) และพระราชวังฤดูร้อนแห่งเมืองเฉิงเต๋อ (承德避暑山庄)
พระราชวังหวาชิงอยู่ห่างจากตัวเมืองซีอานประมาณ 30 กิโลเมตร เนื่องจากมีน้ำพุร้อน จักรพรรดิสมัยราชวงศ์โจว ฉิน ฮั่น สุย ถัง และอื่นๆ ต่างเสด็จฯ มาพักผ่อนที่นี่ในฤดูหนาว เมื่อสมัยราชวงศ์ถัง จักรพรรดิถังเสวียนจง หรือหลี่ หลงจี สั่งให้สร้างสระเพื่อสรงน้ำ และสร้างที่ประทัปต่างๆ รอบภูเขา พร้อมตั้งชื่อว่า "วังหวาชิงกง" และเพราะมีสระน้ำด้วย จึงเรียกอีกอย่างว่า "วังหวาชิงฉือ" โดยจะพาพระมเหสีหยาง กุ้ยเฟย มาประทับพักผ่อนที่นี่ในเดือนตุลาคมทุกปี และเสด็จฯ กลับในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
พระราชวังหวาชิงมีทั้งน้ำและภูเขา โดยใกล้ๆ มีภูเขาหลีและทะเลสาบจิ่วหลง มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สิ่งก่อสร้างประณีตสง่างาม เมื่อเข้าสวนจะรู้สึกได้กลับถึงสมัยโบราณ แต่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่เพียงเป็นทิวทัศน์เท่านั้น ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่นี่ ที่สำคัญที่สุดก็คือความรักระหว่างจักรพรรดิถังเสวียนจงและพระสนมเอก หยางกุ้ยเฟย ซึ่งในตอนค่ำ พระราชวังยังจะจัดการแสดงละครรำ "长恨歌" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของคู่นี้
แม้ว่าจักรพรรดิในสมัยโบราณของจีนมีพระสนมมากมาย แต่ถังเสวียนจงรักหยาง กุ้ยเฟย คนเดียว หยาง กุ้ยเฟย เป็นผู้หญิงที่ทั้งสวยและเก่ง ทั้งร้องเพลงและเต้นรำได้ เป็นหนึ่งใน 4 หญิงงามในสมัยโบราณของจีน โดยถัง เสวียนจง เคยตรัสว่า หยาง กุ้ยเฟย เสมือนเพชรที่ล้ำค่าที่สุดของพระองค์ สระไห่ถังในพระราชวังหวาชิง จึงมีอีกชื่อว่า สระกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นที่สรงน้ำของหยาง กุ้ยเฟย เล่ากันมาว่า หยาง กุ้ยเฟย ชอบกินลิ้นจี่ เมื่อถึงช่วงฤดู ก็อยากกินลิ้นจี่สดๆ แต่ลิ้นจี่ส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของจีน เช่น มณฑลกวางตุ้ง เขตกวางสี มณฑลฝูเจี้ยน และไต้หวัน ส่วนเมืองหลวงของราชวงศ์ถังอยู่ที่เมืองซีอาน แหล่งผลิตลิ้นจี่ที่ใกล้ที่สุดก็มีระยะทางนับพันลี้ อีกทั้งลิ้นจี่สดเก็บรักษายากมาก ในสมัยโบราณการเดินทางก็ไม่สะดวกเหมือนสมัยปัจจุบัน แต่ถัง เสวียนจง เพื่อให้หยาง กุ้ยเฟย ดีใจ สั่งให้ใช้ม้าเร็ววิ่งทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด เพื่อให้ลิ้นจี่ยังสดไม่ทันเปลี่ยนรสชาติก็ถึงเมืองหลวง เรื่องนี้เป็นที่เล่าสืบทอดจนถึงปัจจุบัน และมีลิ้นจี่พันธุ์หนึ่งชื่อว่า "妃子笑" หมายความว่า พระสนมหัวเราะ เป็นชื่อมาจากเรื่องนี้