วันเสาร์ที่สองของมิถุนายนเป็นวันมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีน ถ้าเล่าถึงมรดกโลกทางวัฒนธรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลกมี 3 แห่งได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ปี 1987 หรือกว่า 30 ปีก่อน กำแพงเมืองจีน พระราชวังต้องห้าม ภูเขาไท่ซาน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีมนุษย์ปักกิ่ง-โจวโข่วเตี้ยน สุสานฉินซี และถ้ำโม่เกาแห่งตุนหวงต่างก็ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ซึ่งนั่นก็ทำให้จีนมีแหล่งมรดกโลกเป็นครั้งแรก
สำหรับวันนี้และวันพรุ่งนี้ เราจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมรดกโลกทางวัฒนธรรม 6 แห่งแรกของประเทศจีนดังต่อไปนี้
วันมรดกโลกทางวัฒนธรรมจีน--กำแพงเมืองจีน
เมื่อพูดถึงจีน สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือ "กำแพงเมืองจีน" สิ่งก่อสร้างที่เป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งจิตใจ ความกล้าหาญและความสามัคคีของชนชาติจีน
กำแพงเมืองจีนมีอีกชื่อเรียกว่า "วั่นหลี่ฉางเฉิน" หรือ "กำแพงหมื่นลี้" สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกเพื่อป้องกันการรุกราน ได้รับการยอมรับว่าเป็นกำแพงที่ใช้เวลาสร้างยาวนานที่สุดถึงกว่า 2,000 ปีและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หน่วยงานด้านโบราณวัตถุเคยทำการศึกษาเกี่ยวกับกำแพงเมืองจีนและเผยว่า กำแพงเมืองจีนในสมัยราชวงศ์หมิงมีความยาว 8,851.8 กิโลเมตร ส่วนกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์ฉิน ฮั่นรวมถึงสมัยก่อนหน้านั้นมีความยาวมากกว่า 10,000 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดมากกว่า 21,000 กิโลเมตร
นอกจากจะเป็นปราการตั้งตระหง่านเพื่อต้านทานศัตรูแล้ว กำแพงเมืองจีนยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรับรู้ของโลก โดยในสมัยราชวงศ์ฮั่น กำแพงเมืองจีนก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและรักษาการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกตะวันตก
แม้ในทุกวันนี้ บทบาทของกำแพงเมืองจีนจะเปลี่ยนไป แต่คุณค่าทางจิตใจกลับสูงขึ้น กำแพงเมืองจีนแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาและความก้าวหน้าของบรรพชนจีน อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงจิตใจอันเข้มแข็งและความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ จิตรกรและกวีจีนต่างใช้กำแพงเมืองเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะ เช่น บทกวี วรรณกรรม และดนตรีด้วย
Yim/Patt