เขตมองโกเลียในของจีนมีพื้นที่ 1,183,000 ตารางกิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้า 866,670 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 4 ของทุ่งหญ้าทั่วประเทศจีน เขตทุ่งหญ้าที่คณะไทยเดินทางไปเยือนชื่อว่า "ฮุนเถิงซีเล่อ" อยู่ในอำเภอฉาโย่จงฉี เมืองอูหลันฉาปู้ หมู่บ้านหวงฮวา ฝ่ายบริหารท้องถิ่นจัดให้ชาวปศุสัตว์อยู่ร่วมกัน จัดตั้งเหมิ่งกู๋ต้าอิ๋ง" (蒙古大营) แปลว่า ค่ายชาวมองโกลขึ้น เพื่อให้ชาวปศุสัตว์ท้องถิ่นพัฒนาการท่องเที่ยว นายจู จินขุย ผู้ใหญ่บ้านแนะนำว่า ปัจจุบัน หมู่บ้านหวงฮวามีชาวปศุสัตว์ 15 ครอบครัว มีกระโจมมองโกล 400 หลัง รับรองนักท่องเที่ยวได้สบาย เมื่อก่อน พวกเขาต้องเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ วัว ม้า หรืออูฐ กระจายอยู่ในทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ต้องโยกย้ายที่พักตามฤดูกาลตลอดทั้งปี แต่ปีหลังๆ นี้ รัฐบาลสร้างบ้านเรือนให้ชาวปศุสัตว์อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหวงฮวา ไม่ต้องเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ ส่วนสัตว์ต่างๆ รัฐบาลก็มีการบริหารตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น ต้นหญ้าในทุ่งหญ้าบางแห่งเหมาะสำหรับเลี้ยงแพะ ก็จะย้ายฝูงแพะมา และย้ายฝูงวัวฝูงม้าไปเลี้ยงในทุ่งหญ้าที่มีพันธุ์หญ้าเหมาะสำหรับการเลี้ยง
นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์ใช้วิธีการเลี้ยงที่ทันสมัย เช่น เมื่อก่อนชาวปศุสัตว์ต้องขี่ม้าและเลี้ยงหมามาช่วยดูแลฝูงแพะ แต่ปัจจุบัน ชาวปศุสัตว์จะขี่มอเตอร์ไซต์หรือขับรถดูแลฝูงแพะฝูงวัว กระทั่งฝูงม้า ทำให้ชาวปศุสัตว์มีเวลาพัฒนาการท่องเที่ยว นายจู จินขุยบอกว่า ขณะนี้ ทั้งหมู่บ้านมีอาชีพเสริมคือรับรองนักท่องเที่ยว ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
ชนชาติมองโกลเป็นชนชาติที่ใจดีชอบต้อนรับแขกผู้มาเยือน ไม่ว่าบ้านใคร เมื่อมีแขกมาก็จะต้องเอาชานมที่หอมที่สุด และอาหารที่อร่อยที่สุดมาให้แขกดื่ม กระทั่งจะฆ่าแพะนำไปย่างทั้งตัว แล้วนำเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร ให้แขกผู้มีเกียรติถือมีดผ่าหลังแพะที่ย่างเรียบร้อย และรับประทานคำแรก ขณะเดียวกัน สาวมองโกลจะถือถ้วยเหล้าที่กลั่นด้วยธัญพืชท้องถิ่น ยืนข้างแขก ร้องเพลง "เซี่ยหม่าจิ่ว"(下马酒) แปลว่า เหล้าเชิญลงจากหลังม้า เพื่อแสดงความยินดีต้อนรับแขก ส่วนแขกควรใช้นิ้วนางจิ้มเหล้า สักการะฟ้า ดินและบรรพบุรุษก่อน แล้วดื่มเหล้าหมดถ้วย และก่อนจะเสร็จสิ้นงานเลี้ยง เจ้าภาพจะร้องเพลงและชวนดื่ม "ซ่างหม่าจิ่ว" (上马酒) แปลว่า เหล้าเชิญขึ้นหลังม้า บรรยากาศตลอดทั้งงานมีความคึกคักและอบอุ่นมาก คณะนักหนังสือพิมพ์ไทยตื่นเต้นและประทับใจมาก ชมว่าชาวมองโกลมีน้ำใจ หนุ่มสาวมองโกลร้องเพลงเพราะ เนื้อแพะก็อร่อย ก่อนจะไป ทุกคนแต่งชุดชาวมองโกลถ่ายรูป และบอกว่า แม้เป็นครั้งแรกที่มามองโกเลียใน แต่รู้สึกว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว จะกลับมาเยือนอีก
นอกจากทุ่งหญ้าแล้ว คณะยังได้ไปเยือนกลุ่มบริษัทอีลี่ที่มีฟาร์มเลี้ยงวัวนม เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมนมและโรงงานผลิต ที่ฟาร์มเลี้ยงวัว ได้เข้าชมการเลี้ยง การดูแลและการรีดนมวัว ซึ่งในฟาร์มมีวัวนมกว่า 8,000 ตัว แต่ละวันจะรีดนม 3 ครั้ง ด้วยเครื่องรีดนมแบบอัตโนมัติ 2 ประเภท คือแบบวงกลมและเข้าแถว วัวทุกตัวฉลาด รู้จักเข้าแถวขึ้นเครื่องรีด เสร็จแล้วลงกลับสู่ที่พักเอง
ในโรงงานผลิตนม พนักงานแนะนำว่า นมอีลี่ต้องผ่านการผลิตและการตรวจสอบ 100 ขั้นตอนก่อนจะออกจากโรงงาน ได้รับการรับรองระดับโลกหลายรายการ กลุ่มอีลี่จึงเป็นวิสาหกิจนมที่ใหญ่ที่สุด และอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก
ในพิพิธภัณฑ์นม มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมา ทำให้ผู้ชมได้ความรู้เกี่ยวกับนม ชาวปศุสัตว์และเขตมองโกเลียในมากยิ่งขึ้น นักหนังสือพิมพ์ไทยชมว่า กลุ่มอีลี่ ไม่เพียงแต่เลี้ยงวัวเพื่อผลิตนมเท่านั้น หากยังสืบทอดวัฒนธรรมของนมและชนชาติมองโกลด้วย โดยเปิดให้เข้าชมได้ฟรี เป็นเรื่องที่ดีมาก