โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ "อีอีซี" เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โครงการนี้เน้นพัฒนาเชิงพื้นที่โดยต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด)
วัตถุประสงค์หลักของงานนี้คือต้องการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
สนามบินอู่ตะเภา – สนามบินหลักของโครงการอีอีซี
(ที่มาภาพ: http://eecthailand.or.th/th )
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้จัดงานเสวนานุกรมความรู้ครั้งที่ 8 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนสองท่านมาแบ่งปันความรู้และแนวคิด โดยเฉพาะเรื่องโครงการอีอีซีที่จะดึงดูดนักลงทุนมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและความร่วมมือกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน
ดร.ถัง ฉีฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ญี่ปุ่น, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน ญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความร่วมมือในเอเชียตะวันออก จากสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งประเทศจีนหรือ China Institute of International Studies วิเคราะห์ว่าแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนและโครงการอีอีซีของไทยมีสาระสำคัญที่สอดคล้องกันอยู่หลายประการ แบ่งได้ 3 ด้านดังนี้
1. ด้านนโยบาย
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากตั้งแต่ประเทศจีนประกาศแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนและไทยได้มีการไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนความคิดในระดับสูงหลายครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้นโยบายหรือแผนพัฒนาประเทศของไทยมีความสอดคล้องกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมและเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น ความร่วมมือรถไฟไทยจีน การแลกเปลี่ยนค้าขายด้านสินค้าเกษตร
การที่เนื้อหาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของไทย (พ.ศ. 2560-2564) ได้การกล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศจีนถึง 27 ครั้ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศมีการติดต่อสื่อสาร พัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
2. ด้านอุตสาหกรรม
เมื่อปี พ.ศ.2558 จีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ "เมดอินไชน่า 2025" ที่มุ่งเน้นยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน หลีกเลี่ยงการเข้าสู่การถดถอยของภาคอุตสาหกรรมก่อนวัยอันควร โดยแผนนี้เปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพบางประเภทของจีน ด้านไทยเองก็มีการประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา
หากนำรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมจากแผนฯ ของทั้ง 2 ประเทศมาเปรียบเทียบจะเห็นความสอดคล้องคล้ายคลึงกัน ยิ่งไปกว่านั้น 5 จาก 10 ประเภทของอุตสาหกรรมหลักในแผนฯ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นประเภทเดียวกัน เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ รถยนต์พลังงานใหม่ (พลังงานทางเลือก) อุตสาหกรรมยาและการผลิตยา
ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ จีนและไทยสามารถร่วมมือสนับสนุนกันได้ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผสมผสานกับอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพและโรงพยาบาล ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านให้การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพ ทางจีนสามารถจัดเป็นเหมือนทัวร์สุขภาพคือมาดูแลร่างกาย และในขณะเดียวกันก็พ่วงการท่องเที่ยวไปด้วยได้ จากตัวอย่างที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มต้นจากความร่วมมือแบบดั้งเดิม สามารถนำไปสู่ความร่วมมือในรูปแบบใหม่ได้อีกมากมาย
3. ด้านโครงการ
ปัจจุบันมีหลายโครงการที่จีนกับไทยได้เริ่มต้นและเจรจาประสบความสำเร็จไปแล้ว อย่างรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทางเลือก สินค้าดิจิทัลไฮเทค หรือโครงการอีอีซี ที่มีท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา หรือพวกรถไฟและทางเชื่อมต่อกับรถไฟ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและการคมนาคมถือว่าเป็นเรื่องที่จีนมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก
ขณะที่ธุรกิจบริการยุคใหม่อย่างเดลิเวอรี่หรือการซื้อของทางอินเตอร์เน็ต หรือการเทคโนโลยีการซื้อของโดยไม่ใช้เงินสด อย่างที่ประชาชนจีนตอนนี้ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้พกเงินสดไว้จับจ่ายใช้สอยแล้ว จีนกับไทยสามารถร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเหล่านี้ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น ดร.ถัง มีความเชื่อมั่นว่าจีนและไทยยังมีโอกาสในการร่วมมือกันในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในแง่นโยบายหรือในแง่โครงการที่เป็นรูปธรรม
โครงการอีอีซีถูกวางให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ โลจิสติกส์ และศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
(ที่มาภาพ: http://eecthailand.or.th/th )
อุตสาหกรรมไทยที่มีแววสดใส อาทิ ผลิตชิ้นส่วน-ท่องเที่ยว-เกษตร-โครงสร้างพื้นฐาน
ด้าน ศ.เจิ้ง จิ่นหรง หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านไอทีจากสถาบันการเอาต์ซอร์สของจีนหรือ China Outsourcing Institute ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มเศรษฐกิจ การบริหารจัดการระบบและโครงการ แสดงความคิดเห็นต่อประเภทของอุตสาหกรรมไทยที่น่าจะมีอนาคตที่สดใสไว้ดังนี้
จีนและไทยมีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่มีโอกาสในอนาคตคล้ายคลึงกัน อุตสาหกรรมอย่างแรกน่าจะเป็นพวกผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุ จีนเองก็มีชื่อในด้านการผลิตชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์อยู่ในระดับโลก ส่วนไทยเองก็เป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในเขตหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์โดยเฉพาะด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ส่วนที่สองคิดว่าน่าจะเป็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การบริการ ต้องยอมรับว่าทั้งไทยและจีนในช่วงหลังมานี้ อุตสาหกรรมด้านการบริการมีการเติบโตอย่างมาก จีนเองก็มีการนำเข้าสินค้าประเภทการบริการจากไทยเพิ่มมากขึ้น นี่ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจะมีอนาคตสดใส
อุตสาหกรรมที่สามคือการลงทุนในภาคเกษตรกรรม ไทยขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องสินค้าเกษตรกรรม อาหารของกินต่างๆ ความร่วมมือของจีนและไทยในอนาคตน่าจะเพิ่มมากขึ้น
อุตสาหกรรมที่สี่คือโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้ไทยเองก็กำลังเน้นการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะโครงการอีอีซี โครงการนี้หลักๆ ต้องมีการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งจีนเองมีประสบการณ์สูงในเรื่องเหล่านี้ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จีนและไทยจะร่วมมือลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
อีอีซี โรดโชว์ ณ กรุงปักกิ่ง
(ที่มาภาพ: http://bit.ly/2zCAURT )
ไทยควรเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานเป็นพิเศษ
โครงการอีอีซีเป็นโครงการหลักในการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกันแล้วก็มีส่วนคล้ายคลึงกับแผน "เมดอินไชน่า 2025" ของจีน
ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาค่อนข้างสูง มีความได้เปรียบหลายเรื่องที่สามารถดึงดูดนักธุรกิจจากจีนมาลงทุนได้ คิดว่าด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ การพลังงาน ท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
การเชื่อมต่อด้านคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ
(ที่มาภาพ: http://eecthailand.or.th/th )
ศ.เจิ้ง กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า ในความเป็นจริง เพียงแค่จีนและไทยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในด้านการค้าการลงทุน การไปมาหาสู่พูดคุยกันฉันท์มิตร ยิ่งตอนนี้ที่ไทยมีนิคมอุตสาหกรรมจีนที่จังหวัดระยอง ในนั้นมีโรงงานของคนจีนไปตั้งอยู่มากกว่า 180 แห่ง นิคมฯนี้เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนจีน นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่ให้อยากมาลงทุนที่ไทยได้ หากมีการวางแผนการประชาสัมพันธ์อย่างดีให้เป็นที่รู้จักอย่างทั่วถึงแล้ว คิดว่าโครงการอีอีซีจะสามารถพัฒนารุดหน้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿