หากใครได้ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดของขงจื่อมาบ้าง จะพอเข้าใจว่าขงจื่อจะมุ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ด้วยความหวังว่าการปกครองแบบมีมนุษยธรรม (เหริน) และการจัดระเบียบด้วยจารีต (หลี่) จะแก้ปัญหาการไร้จริยธรรม (เต้า) ในสังคมมนุษย์ได้
ฝ่ายพุทธเถรวาทจะค่อนข้างต่างจากขงจื่ออย่างเห็นได้ชัด คือการเรียกร้องให้มนุษย์ละคลายความผูกพันและยึดมั่นถือมั่น อย่างเช่นครอบครัวหรือสิ่งที่เรารักก็ถือเป็น "ความผูกพัน" ที่ทางฝ่ายพุทธเถรวาทแนะนำให้ละทิ้งเพื่อให้ห่างไกลจากความทุกข์ ในขณะที่ขงจื่อเน้นให้คนอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขและมีวิธีประนีประนอมรักษาความสัมพันธ์เพื่อให้ความเป็นครอบครัวยังคงอยู่
สมมติฐานของผู้วิจัยตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าปรัชญาทั้งสองสาขามอง "ความทุกข์" ต่างกัน ทำให้การเสนอทางออกในการใช้ชีวิตแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่นับถือพุทธเถรวาทมีแนวทางการใช้ชีวิตในอุดมคติคือ "การพ้นทุกข์" ในขณะที่ชีวิตในอุดมคติของขงจื่อคือ "การยอมทุกข์" เพื่อเป้าหมายอันทรงคุณค่า
บทวิเคราะห์ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ ดังนี้
1. "ทุกข์และการหลุดพ้น" – ความหมายในทางพุทธ
2. ขอบเขตและความหมายของทุกข์ในปรัชญาขงจื่อ
3. การยอมทนทุกข์เพื่อสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม (เหริน) แบบขงจื่อ
4. พุทธและขงจื่อ: สองวิถีสู่ชีวิตที่ดี
"ทุกข์และการหลุดพ้น" – ความหมายในทางพุทธ
วัลโพลา ราหุล ได้แบ่ง "ทุกข์" ในพุทธศาสนาไว้ 3 มิติหลัก ได้แก่ 1.ทุกข์ในมิติความเดือดร้อนทั่วไป (ทุกข์จากเกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบ ทุกข์กาย-ใจ) 2. ทุกข์จากการแปรเปลี่ยน (สุขอยู่ได้ชั่วคราว พอเปลี่ยนไปก็ทุกข์) 3. ทุกข์จากภาวะที่ขึ้นแต่เหตุปัจจัย (ขันธ์5 ทำให้เกิดทุกข์)
จากทุกข์ 3 มิติที่วัลโพลา ราหุลเสนอไว้ด้านบน ทำให้ผู้วิเคราะห์พบว่าทุกข์ในแบบพุทธฯแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ทุกข์ที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความเป็นบุคคล และ 2. ทุกข์ที่ไม่มีลักษณะความเป็นบุคคล และเมื่อนำทุกข์ทั้งสองแบบมารวมกันจะเป็นทุกข์ในมิติที่ 3 คือความจริงเกี่ยวกับจักรวาลหรือทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ 5 (การยึดขันธ์5 ทำให้เกิดทุกข์)
ในบทความนี้ ผู้วิเคราะห์จำกัดคำว่า "ความทุกข์" อยู่ในความหมายที่ 1 และ 2 เท่านั้น (เนื่องจากไม่เห็นชัดเจนว่าขงจื่อได้กล่าวถึงความทุกข์ในแง่ความหมายที่ 3 ไว้หรือไม่)
เจ้าชายสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า) ทรงออกนอกวังไปพบเทวทูตทั้ง 4
(ภาพจาก http://bit.ly/2AhThJF )
เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธพบสัจธรรมเกี่ยวกับความทุกข์แล้ว พุทธศาสนามองบัญญัติต่างๆที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาว่าเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารในสังคมเท่านั้น การยึดบัญญัติจะนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นการจะพ้นทุกข์ได้ต้องละคลายความยึดถือบัญญัติ ยึดถือตัวตน อันเป็นเพียง "สิ่งสมมติ" ของชาวโลก ตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนเคยรวยล้นฟ้าแล้วต้องล้มละลายจะมีความทุกข์มากกว่าคนที่จนอยู่แล้วเพราะเขามีอัตตาหรือมีการยึดติดกับสิ่งสมมติ หากอยากจะพ้นทุกข์ก็คือต้องเลิกยึดติดว่าเคยรวยมาก่อน เป็นต้น
สำหรับ "มรรค8" ที่เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความ "พ้นทุกข์" ไม่ว่าจะเป็น การมีความเพียรชอบ การมีสัมมาชีพ (เลี้ยงชีพชอบ) ยังเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กันทางสังคม ถึงแม้จะมีวิธีการปฏิบัติให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขสมานฉันท์แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทุกข์ถึงแก่นแท้ได้ การพ้นทุกข์จึงต้องอาศัยการปฏิบัติด้วยตนเองและเป็นเรื่องของปัจเจกเท่านั้น
ขอบเขตและความหมายของทุกข์ในปรัชญาขงจื่อ
ย้อนกลับไปที่ความทุกข์ 3 มิติ เราจะเห็นได้ว่าขงจื่อเน้นความทุกข์ในมิติแรกเป็นหลัก อันได้แก่ ความทุกข์ทางกาย-ใจของมนุษย์ อันจะมีผลมาจากเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลัก
ปัญหาที่ขงจื่อวิตกกังวลมากคือ ความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ที่เคยราบรื่น หรือความเสื่อมของกติกาที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไว้
เพราะฉะนั้นการหาทางออกจากความทุกข์ในแนวของขงจื่อคือ "การฟื้นคืนจิตวิญญาณหรือหัวใจของบัญญัติ"
หลุนอี่ว์: คัมภีร์พื้นฐานของสำนักปรัชญาขงจื่อ
(ภาพจาก http://bit.ly/2zA0bbY )
ในปรัชญาขงจื่อ "บัญญัติ" ในที่นี้ น่าจะเทียบได้เท่ากับ "หลี่" หรือจารีตธรรม หากต้องการให้มนุษยธรรมเป็นหัวใจของจารีต เท่ากับ ทำให้ "เหริน" เป็นหัวใจของ "หลี่" นั่นเอง
แนวทางของขงจื่อไม่ได้มุ่งให้ดับกิเลสตัณหา ไม่ได้บอกให้คนเราต้องดับทุกข์ด้วยการดับความต้องการ แต่ทว่าให้สนองกิเลสหรือความต้องการเหล่านั้นในทางที่เหมาะสม โดยใช้ "เหริน" และ "หลี่" เป็นตัวกำกับ หรืออาจจะพูดได้ว่า เราสามารถทำตามสิ่งที่ใจต้องการได้โดยไม่ละเมิดครรลองคลองธรรม
สรุปโดยย่อว่า "ภาวะไร้ทุกข์" ในแบบขงจื่อคือการที่มนุษย์ต่างวัยต่างเชื้อชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ความสัมพันธ์ราบรื่น
การยอมทนทุกข์เพื่อสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม (เหริน) แบบขงจื่อ
ปรัชญาขงจื่อนอกจากจะยอมรับในเรื่องความต้องการหรือกิเลสแล้ว ยังยอมรับอีกว่าเพื่อคุณค่าแห่งเป้าหมายหรือความรัก เรามีความชอบธรรมในการยอมทนทุกข์
"รักแล้วสามารถไม่ทำงานหนักได้ด้วยหรือ ภักดีแล้วไม่ตักเตือนได้ด้วยหรือ" คือข้อความที่ปรากฏในหลุนอี่ว์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถมีปณิธานหรือจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ และสมควรยอมทุกข์ยากเพื่อยืนหยัดคุณค่าแห่งเป้าหมายที่ตนได้เลือกแล้ว นอกจากนี้ ข้อความนี้ยังโต้แย้งกับแนวคิดที่ว่าปรัชญาขงจื่อมุ่งเอาใจอำนาจรัฐหรือเจ้านาย เนื่องจากถึงแม้จะมีความภักดีแต่หากเห็นสิ่งใดไม่ถูกไม่ควรก็ต้องมีการโต้แย้งตักเตือนนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการไม่แสดงออกให้กระทบความรู้สึกคนรอบข้างหรือยอมจำกัดการตอบสนองหรือความต้องการของตนเอง เช่น เมื่อกินข้าวข้างๆคนที่กำลังทุกข์ก็จะไม่กินจนอิ่ม เป็นต้น
ศิษย์รักกับท่านอาจารย์: เหยียนหุยและขงจื่อ
(ภาพจาก: http://bit.ly/2hZmErK )
ตัวอย่างที่โดดเด่นในการยอมทนทุกข์ของขงจื่อคือเมื่อตอนเหยียนหุยผู้เป็นศิษย์รักของเขาได้จากไป ขงจื่อร้องไห้คร่ำครวญอยู่นานจนมีศิษย์คนหนึ่งทักว่า "เกินไป" แต่ทว่าขงจื่อไม่ได้มองเห็นความ "เกินไป" ในการกระทำของตนเพราะเขามุ่งเน้นที่ "คุณค่าที่ได้เสียไป" มากกว่า กรณีนี้จะเห็นได้ว่าเขายอมทนทุกข์เพื่อ "ยืนยันคุณค่า" ของเหยียนหุยที่มีต่อชีวิตของตน สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ขงจื่อไม่ใช่มองไม่เห็นว่าทุกคนเกิดมาต้องตาย แต่เขามองว่าความตายมาเยือนเหยียนหุยไวเกินไป (เหยียนหุยยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียแล้ว)
(ผู้สนใจการวิเคราะห์เรื่องความรื่นรมย์ ความรักและความโศกเศร้าในปรัชญาขงจื่อ: บทวิเคราะห์เหยียนหุยของสุวรรณา สถาอานันท์สามารถอ่านบทความได้ทาง http://bit.ly/2iiCQs3 )
พุทธและขงจื่อ: สองวิถีสู่ชีวิตที่ดี
การนำเสนอในครั้งนี้ อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ - ผู้วิเคราะห์มิได้มีวัตถุประสงค์ต้องการเปรียบเทียบหรือจัดลำดับคุณค่าของแนวคิดแต่อย่างใด โดยผู้วิเคราะห์มีความเชื่อว่า "ทัศนะต่อความทุกข์" เป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะแบบปรัชญาขงจื่อหรือแบบพุทธเถรวาท หากมองให้ลึกไปอีกขั้นเราอาจจะพบจุดร่วมเชิงจริยธรรมของแนวคิดทั้งสองระบบ ซึ่งก็ได้มีผู้ศึกษาวิจัยกันมาบ้างแล้ว
ตัวอย่างเช่น "สิงคาลกสูตร" หรือ พระสูตรที่ว่าด้วยทิศทั้ง 6 หรือ บุคคล 6 ประเภทที่มีความสัมพันธ์ต่อบุคคลหนึ่งๆ การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น มิตรแท้และมิตรเทียม ฯ โดยบุคคลทุกประเภทควรปฏิบัติดีต่อกันและไม่กดข่มกัน จะเห็นได้ว่า"สิงคาลกสูตร" ของพุทธฯ ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็มีความสอดคล้องกับแนวคิดแบบขงจื่อที่เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์อยู่ไม่น้อย
ข้อเสนอแนะสุดท้ายคือการศึกษาค้นคว้าปริศนามิติอื่นๆของสองแนวทางความคิดที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งจากเอเชียตะวันออก (จีน) และเอเชียใต้ (อินเดีย) ที่มาบรรจบและเจริญงอกงามในแผ่นดินที่ชื่อว่าสยามประเทศแห่งนี้
อ.สุวรรณา สถาอานันท์ ผู้นำเสนอบทความ "พ้นทุกข์หรือยอมทุกข์: ปรัชญาพุทธกับขงจื่อ"
เนื้อหาในบทความนี้นำมาจากการนำเสนอบทความวิชาการเรื่อง "พ้นทุกข์หรือยอมทุกข์: ปรัชญาพุทธกับขงจื่อ" โดยอาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ "ศาสนาและวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเล" ที่ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ ม.ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม