สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานข่าวจากสื่อมวลชนไทย--เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลไทยได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินสภาพแวดล้อมตลอดเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่หนึ่ง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทยประกาศว่า จะเริ่มดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงปลายเดือนนี้
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม รายงานจากเว็ปไซต์ทางการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไทยได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินสภาพแวดล้อมช่วงที่สอง (ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่หนึ่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การประเมินสภาพแวดล้อมตลอดเส้นทางโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทยแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานการรถไฟทั้งไทยและจีนได้ลงนามในข้อตกลงการออกแบบและข้อตกลงการดูแลงานของโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่หนึ่ง ที่เมืองเซี่ยเหมิน และคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการประเมินสภาพแวดล้อมของโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทย รายละเอียดด้านการออกแบบยังต้องปรึกษาหารือกันเพิ่มขึ้น ทำให้โครงการจำเป็นต้องเลื่อนเวลาดำเนินการ
การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไทยได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินสภาพแวดล้อมของโครงการในครั้งนี้ ทำให้โครงการรถไฟไทย-จีนสามารถเริ่มดำเนินการได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทยประกาศในงานแถลงข่าวว่า หลังจากรายงานการประเมินสภาพแวดล้อมตลอดเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่หนึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว คาดว่าในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ จะเริ่มดำเนินโครงการได้ โดยช่วงแรกของรถไฟความเร็วสูงมีความยาวถึง 3.5 กิโลเมตร ใช้เงินทุน 425 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินงานครึ่งปี นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยจะให้เกียรติร่วมพิธีเปิดโครงการด้วย
โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟไฮสปีดที่มีรางรถไฟมาตรฐานสายแรกของไทย โดยระยะที่หนึ่งของโครงการ ตามแผนการออกแบบ มีเส้นทาง 253 กิโลเมตร มีความเร็วสูงสุดถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 17 นาที ลดเวลาเดินทางได้ถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยระยะที่หนึ่งของโครงการจะเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเร็วที่สุดประมาณปี 2021 ทั้งนี้ เมื่อถึงตอนนั้น การติดต่อการค้าและการไปมาหาสู่กันของประชาชนระหว่างกรุงเทพฯ และภาคอีสานของไทย จะสะดวกรวดเร็วขึ้น
(Ora/Zi)