ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อทุกคนทุกครัวเรือน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจที่เคยเอนไปฝั่งตะวันตกกำลังถูกถ่ายโอนมายังเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก (Asian Century) การ "มา" ของ "เทคโนโลยี" กำลังทำให้โอกาสทางธุรกิจและอาชีพของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องนำมาวิเคราะห์และทบทวน เพื่อปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมาะสมและมีความยั่งยืน
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาประจำปีในหัวข้อ "Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารบี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้จับเอาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 2 ใน 3 ของเสาหลักทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนมานำเสนอ
งานสัมมนาวิชาการ "Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน"
งานวิจัยทั้งหมดมี 6 หัวข้อ นำเสนอโดยอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญอีก 6 ท่านมาช่วยวิเคราะห์บทความ สำหรับ 3 บทความแรกเน้นไปที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการส่งออก โดยเจาะลึกถึงโครงสร้างและผลการดำเนินงาน การตั้งคำถามกับความคาดหวังในภาคบริการที่จะนำมาขับเคลื่อนประเทศและเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และความพยายามลดช่องว่างระหว่างทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการกับทักษะจริงที่แรงงานไทยมีอยู่ ส่วน 3 บทความหลังเน้นวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินต้นทุนทางด้านทรัพยากร (ดิน น้ำ ลม ไฟฟ้า) ว่าสินค้าที่เราผลิตใช้ต้นทุนเหล่านี้มากเพียงใด การเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศ และสุดท้ายมุมมองต่อการเก็บค่าน้ำกับภาคเกษตรกร
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ผู้นำเสนอเรื่อง "ช่องว่างทักษะกับนัยยะที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย" ให้ความเห็นเรื่องทักษะแรงงานฝีมือของไทยที่พัฒนาไม่ทันการโตของเศรษฐกิจ โดยเปรียบเทียบกับ "จีน" ประเทศที่ใหญ่กว่า คนเยอะกว่า แต่โตไวกว่าไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้นำเสนอเรื่อง "ช่องว่างทักษะกับนัยยะที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย"
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีการปกครองจากส่วนกลางก็จริง แต่ว่าในแต่ละมณฑลจะมีคนดูแล หรือเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based Development) ตั้งแต่เริ่มแรก แม้กระทั่งสี จิ้นผิงเองก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดียังถูกส่งไปดูแลและพัฒนามณฑลต่างๆ เช่น ฝูเจี้ยน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีนโยบายกลางแต่นำไปประยุกต์ใช้แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
ย้อนมาดูที่ไทย ไทยจะเป็นแบบข้างบนสั่ง ข้างล่างรับไปทำ ทำตามข้างบน แต่ไม่ได้ทำตามคนในพื้นที่ และนี่คือข้อแตกต่าง เพราะไทยมี 77 จังหวัดหากทำตามข้างบนสั่งก็ทำได้ทีละไม่กี่จังหวัด หรือที่เรียก "จังหวัดนำร่อง" ซึ่งแท้จริงแล้วทุกจังหวัดควรขยับและก้าวไปพร้อมกัน บทเรียนจากจีนคือเขาออกนโยบายมาแล้วนำมาปรับใช้ต่อยอดจากฐานเดิม โดยดูว่าคนท้องถิ่นนั้นถนัดเรื่องไหน เปรียบได้กับการใช้ดินสร้างปราสาท หัวใจของจีนคือ "วางแผนโดยส่วนกลาง แต่ปล่อยอิสระให้พื้นที่เติบโตและพร้อมจะทำไปพร้อมกัน" แบบนี้จะตอบโจทย์การพัฒนากำลังคน
"เปลี่ยนมุมมองจากการใช้จีดีพีเป็นตัวตั้ง ให้เน้นที่รากคือการสร้างคน" มุมมองจาก ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ไทยกับจีนมีโครงสร้างในการปกครองท้องถิ่นที่คล้ายกันอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่มบทบาทเชิงรุกให้มากขึ้น วัฒนธรรมขงจื่อที่ฝังรากมานานในจีนทำให้เขาคิดถึงการศึกษาเมื่อจะต้องการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ต้องถูกนำมาใช้ให้คนไทย "อิน" เปลี่ยนมุมมองจากการใช้จีดีพีเป็นตัวตั้ง ให้เน้นที่รากคือ "การสร้างคน"
อย่างการสร้างกำลังคนเพื่อตอบสนองด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการส่งคนไปเรียนรู้นั้น ช่วงแรกอาจจะดีเพราะไปไม่ใช่แค่ได้ความรู้ แต่ยังได้ซึมซับวัฒนธรรมและได้เห็นสิ่งแวดล้อมของโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ ด้วย แต่เพื่อความยั่งยืน ควรมีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะด้านโดยความร่วมมือของหลายประเทศ คนที่เราสร้างขึ้นมาไม่ได้มีประโยชน์แค่กับไทย เพราะเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานจะกระจายเชื่อมต่อไปหลายประเทศ ทำให้คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาของภูมิภาคต่อไป สถาบันที่ว่าไม่ได้พูดถึงแค่รถไฟเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น พลังงานสะอาด
"Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน"
------------------
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿