เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพบกับวงการ "กฎหมาย"
  2018-01-23 21:18:54  cri

ย้อนไปสักสิบหรือยี่สิบปีที่แล้วหากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI คนส่วนมากจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว AI มักมาคู่กับพวกนักประดิษฐ์เพ้อฝันหรือโครงเรื่องหนังไซไฟซะมากกว่า ทว่าความจริงในตอนนี้ AI ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะการพัฒนาและความล้ำสมัยของมันทำให้ AI กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแพทย์ การบริการ ยิ่งใหญ่ขนาดว่าไป๋ตู้ (Baidu) ผู้นำเสิร์ชเอนจิ้นของจีนทุ่มทุนซื้อ Andres Ng อดีตนักวิจัย AI ชื่อดังของแสตนฟอร์ดมาร่วมทีม แถมประกาศเสียงดังฟังชัดว่าเทคโนโลยี AI คืออนาคตของตนและประเทศจีน1

เมื่อเทคโนโลยี AI มาอยู่กับวงการกฎหมาย

(ที่มาภาพ: CaseCruncher อ้างจาก TheNextWeb.com)

เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ร่วมมือกับ Gridsum ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ระบบคลาวด์และบิ๊กดาต้า (Big Data) เปิดศูนย์วิจัยใหม่เน้นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยในระบบกฎหมายของจีน ภายใต้ชื่อ "Legal AI Lab" (The Peking University Legal AI Lab and Research Institute) โดยภายในวันเปิดงานมีบุคลาการทั้งจากองค์กรการศึกษา ฝ่ายกฎหมายชั้นนำของจีนเข้าร่วมงาน โดยแต่ละคนได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ AI กับกฎหมาย ความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานตามความถนัดของตน ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ชื่อ "เป่ยต้าฝาเป่า" ซึ่งตอนนี้อัพเกรดไปถึงเวอร์ชั่น 6 แล้วไว้ช่วยเหลือผู้ที่ทำงานในสาขาวิชาด้านกฎหมายและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจีน ซึ่งเครื่องมือนี้ก็อยู่ในความดูแลของคณะนิติศาสตร์ ม. ปักกิ่ง3

หน้าตาของ "เป่ยต้าฝาเป่า V6" ฉบับพีซี

การตั้งศูนย์วิจัยในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของจีน หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ที่จีนได้ประกาศเรื่องแผนพัฒนาเทคโนโลยี อัดฉีดทรัพยากรสำหรับการวิจัยและการศึกษาในภาคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ในปี 2025 รวมถึงการผลักดันจีนให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรม AI ในปี 2030 และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ประกาศแผน 3 ปี เพื่อส่งเสริม AI ในภาคยานพาหนะ หุ่นยนต์ สาธารณสุข และภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดในการยกระดับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง

ก่อนหน้านี้ ม.ปักกิ่ง และ Gridsum เคยร่วมมือกันมาแล้ว โดยในปี 2014 นักวิจัยจาก ม.ปักกิ่งได้ใช้ข้อมูลจาก Gridsum ในการวิเคราะห์รายงานข่าวและทิศทางของสื่อ ด้านนายฉี กั๋วเซิ่ง ซีอีโอของ Gridsum แสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมวิจัยกับสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของจีน และเชื่อมั่นว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาการใช้ AI และบิ๊กดาต้าเพื่อประโยชน์ต่อวงการกฎหมายของจีนต่อไป2

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่จนจะถึงต้อง "ว้าว" แต่เป็นอีกหนึ่งก้าวที่ทำให้สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียก็ใส่ใจกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่แพ้ฝั่งยุโรปหรือแถบอเมริกา หากมองในทางกลับกันเทคโนโลยี AI สามารถสร้างความปวดหัวให้กับนักกฎหมายรวมถึงคนทั่วไปได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดที่มาจากระบบหรือฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดข้อพิพาทขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนอย่างศาสตราจารย์พิเศษ วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษคลังสมองจีนอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน และที่ปรึกษาอธิการบดีม.หัวเฉียวได้ให้สัมภาษณ์กับทางซีอาร์ไอไว้ ดังนี้

ศาสตราจารย์พิเศษ วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษคลังสมองจีนอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน และที่ปรึกษาอธิการบดี ม.หัวเฉียว

เรื่องเทคโนโลยี AI นี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพย์สินและเทคโนโลยี ซึ่งมีกฎหมายพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากจะทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย AI เราต้องเข้าใจเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายเทคโนโลยี และตามด้วยกฎหมายสนับสนุนอื่นๆ เช่น การเงิน เท่าที่ทราบประเทศจีนยังไม่มีออกกฎหมายนี้มาโดยตรง คือที่จีนหากจะออกกฎหมายอะไรสักอย่าง จะยังไม่ผ่านสภาทันที แต่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทดลองดูก่อน แล้วทำไปเรื่อยๆ ระยะเวลาอาจนานเป็นสิบปีก็ได้ หากยังไม่เข้าที่ เมื่อเห็นว่าเข้าที่แล้วจึงนำเข้าสภา แล้วออกมาเป็นกฎระเบียบบริหาร (สิงเจิ้งฝ่ากุย) ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็คล้าย "กฎกระทรวง" "พระราชกฤษฎีกา" หรือ "พระราชกำหนด" ซึ่งกฎระเบียบบริหารนี้ออกโดยฝ่ายบริหาร แต่ใช้ได้ทั่วประเทศเหมือนกันหมด

ถ้าจะออกเป็นกฎหมายแบบที่เรียกว่า "ฝ่าลวี่" เป็นเรื่องยากมาก อย่างกฎหมาย AI พวกนี้ เขาจะดูว่าขึ้นอยู่กับหน่วยงานไหน กระทรวงนั้นจะออกเป็นกฎระเบียบบริหารมาทดลองก่อน อย่างกฎหมายฟินเทค (Fin Tech) ก็จะเป็นหน่วยงาน People's Bank of China (จงยางเหรินหมินหยินหาง) เป็นคนออก ผลคือทำให้กฎหมายนี้แม้จะเป็น "กฎระเบียบบริหาร" แต่เนื่องจากหน่วยงานที่ออกเป็นหน่วยงานกลาง เพราะฉะนั้นจึงใช้ได้ทั่วประเทศจีนเหมือนกัน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน

(ที่มาภาพ: tech.sina.com.cn)

กฎหมายจีนและไทยเป็นแบบ Civil Law หรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งแตกต่างกับทางสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือสิงคโปร์ ซึ่งประเทศที่ว่านี้ไม่เน้นลายลักษณ์อักษร แต่เน้นคำพิพากษา คราวนี้อาจมีคนถามว่าหากเรื่องใหม่ๆ มาไม่มีกฎหมายรองรับจะทำอย่างไร สำหรับประเทศจีนจะมีการตีความกฎหมายของศาลประชาชนสูงสุดซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่งแห่งเดียว (ในกรณีต้องการตีความ) ส่วนใหญ่ที่ไทยจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่สำหรับเมืองจีนต้องดูว่าเรื่องนี้อยู่ในชั้นไหน ใครเป็นผู้รับผิดชอบชี้ขาด ยกตัวอย่าง ถ้าเรื่องนี้อยู่ในชั้นสอบสวนจะให้อัยการสูงสุดเป็นคนชี้ขาด แต่ถ้าเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาลแล้วจะให้ศาลสูงสุดของประเทศเป็นคนชี้ขาด หากศาลสูงสุดและอัยการสูงสุดมีความเห็นขัดแย้งกัน เรื่องนี้จะถูกส่งไปยังกรรมาธิการร่างกฎหมาย หรือกรรมาธิการถาวรของสภาประชาชน(เพราะพวกเขาเป็นคนร่างกฎหมาย) โดยการตีความของสามหน่วยงานที่ว่านี้จะมีผลบังคับใช้ได้เหมือนกฎหมาย

สำหรับการอุดช่องว่างกฎหมายเรื่องใหม่ๆ เมื่อเทียบกับกัน จีนและไทยมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นของประเทศไทย กฎหมายแพ่งจะมีมาตรา 4 บอกว่าให้ใช้กฎหมาย ใช้หลักทั่วไป หรือใช้ประเพณีอะไรต่างๆ แต่เราไม่มีหน่วยงานที่จะขยายกฎหมายให้ครอบคลุมได้ แบบนี้เราเรียก "กฎหมายชราภาพ" คือเก่าแก่เกินไปที่จะตามยุคใหม่ ศาลฎีกาตัดสินเป็นแค่การอ้างอิง แต่เอามาใช้เป็นกฎหมายไม่ได้ เราทราบกันดีว่า "เศรษฐกิจ" เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจีน และมีการพัฒนาไปตามธรรมชาติ แต่ "กฎหมาย" ซึ่งคือโครงสร้างส่วนบน (Super Structure) กฎหมายเปลี่ยนเองไม่ได้ ต้องมีคนไปแก้ เขาเลยต้องหาวิธีอะไรมาอุดช่องว่าง นั่นก็คือการใช้วิธีตีความกฎหมายของศาลประชาชนสูงสุดและนำไปบังคับใช้ได้ทั่วประเทศ

ที่มาข้อมูล:

1. วันที่ AI พลิกโฉมประเทศจีน. อาร์ม ตั้งนิรันดร์. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639341

2. AI goes to Law School – In China. Gabrielle Orum Hernández. http://bit.ly/2lRqZPk

3. 北京大学法律人工智能研究中心成. China Council for The Promotion of International Trade. http://bit.ly/2BhNzX8

------------------

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040