"เบียร์-อนุรักษ์" ราชานักแปลนิยายจีนร่วมสมัย 12 ปี 100 กว่าเล่ม
  2018-02-05 20:44:47  cri

อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี : นักแปลนิยายจีนร่วมสมัย

ไม่ใช่แค่ 100 เล่มถ้วน เพราะตอนนี้ เบียร์ - อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี แปลไปแล้วถึง 110 เล่ม กับเส้นทางการแปลเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนๆ หนึ่งจะแปลนิยายจีนได้มากขนาดนี้ จึงไม่มีใครคัดค้านถ้าเราจะยกให้เขาเป็น "ราชานักแปลนิยายจีนร่วมสมัย"

เบียร์ประกาศไว้หนักแน่นว่า ตราบใดที่ร่างกายยังพร้อม ยังมีแรง มือไม่เจ็บ ยังนั่งหน้าคอมฯ ได้ เขาก็จะแปลไปเรื่อยๆ

วันนี้ทีมงานรายการ On View ของช่อง China Face ออกอากาศทาง YouTube ได้มีโอกาสพูดคุยกับราชานักแปลนิยายจีนร่วมสมัยคนนี้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เขามีประสบการณ์เช่นไร ทำไมถึงได้แปลเก่งขนาดนี้ มาฟังคำตอบจากเขากัน

อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี : นักแปลนิยายจีนร่วมสมัย

ทำไมเลือกมาเป็นนักแปล?

ประการที่หนึ่ง คือ เราทำได้

ประการที่สอง คือ มีความต้องการที่จะนำสิ่งที่เราประทับใจแล้วแชร์ไปให้คนอื่น

หนังสือเล่มหนึ่งทำให้ผมคิดถึงการแปลเล่มต่อไปเรื่อยๆ เป็นหนังสือเกี่ยวกับคุณหมอท่านหนึ่งที่เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นหมอมาสู่การเป็นนักเขียน หนึ่งในการตัดสินใจของเขาคือว่า เขาเป็นนักเขียนกับคุณหมอควบคู่กันมาตลอด พอวันหนึ่งที่ทั้งสองอาชีพเรียกร้องเวลาจากเขามากขึ้นๆ ถ้าหากเหยียบเรือสองแคมต่อไป เขาก็จะครึ่งๆ กลางๆ แต่ถ้าหากก้าวไปสู่ทางใดทางหนึ่งก็ย่อมสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ เขาก็มองว่าฝั่งไหนต้องการเขามากกว่ากัน ในขณะที่อาชีพหมอผ่านกระบวนการฝึกฝนก็ยังสามารถมีคนมาแทนที่เขาได้ในอนาคต แต่อาชีพนักเขียนนั้นต่างกัน สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาด้วยวิธีของเขาสู่ผู้อ่าน ก็มีแต่ตัวเขาเอง สุดท้ายเขาก็เส้นทางการเป็นนักเขียน และประสบผลสำเร็จในที่สุด ผมเองก็เหมือนกันตอนนี้เป็นนักแปลอยู่ก็จริง แต่ก็กำลังมีหลายสิ่งหลายอย่างมาแย่งเวลาการแปลของผมมากขึ้นเรื่อยๆ อีกสัก 2-3 ปีคงต้องมานั่งชั่งใจว่าฝั่งไหนต้องการเรามากกว่ากัน สามารถทำฝั่งไหนให้เกิดประโยชน์สุขมากกว่ากัน ตอนนี้ยังเป็นนักแปลต่อไปเพราะว่าทำได้และที่สำคัญคือเป็นอาชีพหลักด้วย

เคยให้สัมภาษณ์ไว้นานแล้วว่าตัวเองเหมือน "ช้างที่ถูกผูกไว้กับเสา" ยังคิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้นหรือเปล่า?

ตอนนั้นเล่าถึงตัวเองที่เคยอยู่ในกรอบ ไม่คิดว่าจะทำบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งตัวเองมีศักยภาพแล้ว เหมือนกับช้างที่ถูกผูกกับเสาไว้ตั้งแต่ยังเล็กๆ อยู่กับเสาต้นเล็กๆ โซ่เส้นเล็กๆ ตอนเด็กมันพยายามกระชากยังไงก็ไม่หลุด แต่พอโตขึ้นเป็นช้างใหญ่แล้ว พละกำลังของมันพร้อมที่จะสลัดตัวเองหลุดออกมาจากโซ่นั้นได้ แต่เพราะสิ่งที่เคยถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็กว่าฉันสู้เสาต้นเล็กนี้ไม่ได้หรอก เมื่อไหร่ที่ล่ามปุ๊บมันก็จะอยู่ ส่วนตัวผมเองอยู่ในกรอบมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน โตมาในสังคมแบบศาสนา คนรอบข้าง ครอบครัว ที่หลุดกรอบออกมาได้ คือมองเห็นศักยภาพของตัวเองว่าทำสิ่งที่ปรารถนาได้มากกว่า นั่นก็คือ การก้าวออกมาทำงานแปล

ทำไมถึงมาทำงานแปล?

ส่วนหนึ่งมาจากจิตสำนึกของตัวเองว่าเราเป็นคนอ่านหนังสือ มีความรู้สึกว่าคนรอบตัวเราเยอะแยะที่ไม่รู้ภาษาจีน เขาจะไม่ได้รับความประทับใจจากการอ่านสิ่งที่อยู่ในภาษาจีนเหมือนกับเรา เราอยากแบ่งปัน เหมือนกับคนที่อ่านหนังสือแล้วอยากจะเล่าต่อ อยากจะชักชวนเพื่อนอ่าน แต่เราจะชักชวนเพื่อนคนไทยเราอ่านได้ยังไง เราก็แปลไง นั่นคือก้าวแรกที่มาสู่การแปล หลังจากนั้นด้วยความชื่นชอบนี้จึงผันจากงานอดิเรกมาสู่อาชีพ และทำอย่างนี้ยืนยาวเรื่อยมา ความท้าทายและความสดใหม่ของการทำงานแปล ท่วงท่า อิริยาบถในการทำงานเหมือนกันหมดแหละ แต่เนื้อหาของสิ่งที่แปลมันเปลี่ยนไป แตกต่างไป เราก็จะได้อรรถรสใหม่ เหมือนกับว่าได้รีสตาร์ทอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ก็มีความสุขดี

กี่ปีแล้วกับอาชีพนักแปล?

ตั้งแต่ปี 2007-2008 ตอนนี้ก็ขึ้นปีที่ 12 แล้ว แปลหนังสือเล่มแรกตอนนั้นอายุ 20 ปลายๆ อ่านหนังสือจีน-ไทยสะสมเรื่อยมา ก็เลือกเอาจากหนังสือที่เราประทับใจตั้งแต่เด็ก พอมีโอกาสเลยแปลเล่มนั้นเก็บไว้ และเอาเล่มนี้ไปเสนอบรรณาธิการ จึงเหมือนเป็นใบผ่านทางใบแรก สำนักพิมพ์แรกที่ทำงานด้วยก็คือแพรวเยาวชนในเครืออัมรินทร์ สมัยนั้นยังไม่มีนักแปลจีน และแทบไม่มีตลาดนิยายจีนอื่นที่ไม่ใช่กำลังภายใน เราก็ไปนำเสนอเปิดรูปแบบใหม่ เขามองเห็นการตลาดและบุคลากรจีนก็ยังไม่เยอะ นักแปลจีนก็แทบไม่มี

ผมตื่นเต้นมา เพราะได้เป็นนักแปลครั้งแรก มีชื่อของเราบนปกหนังสือ มีคนพูดถึง เลยจับงานแปลไปด้วย จับงานลิขสิทธิ์ไปด้วย คือการแนะนำบอกต่อ ไปหาหนังสือที่เราคิดว่ามีศักยภาพมานำเสนอสำนักพิมพ์ จากหนึ่งสำนักพิมพ์ก็ไปสู่สองสำนักพิมพ์ จากที่เราหาเองบ้างก็มีที่สำนักพิมพ์หาต้นฉบับมาให้บ้าง เห็นว่าเหมาะกับสำนวนของเราก็ส่งมาบ้าง การแปลไม่ได้หยุดอยู่แค่ในหนังสือ เพราะจากหนังสือทำให้เราได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อเรื่องของการแปลบ้าง เป็นหัวข้อวัฒนธรรมบ้าง เสวนาบ้าง หรือไปสู่เทศกาลหนังบ้าง เป็นกุญแจไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง

เป็นนักแปลจีนประเภทไหน?

ส่วนใหญ่เป็นนิยาย มีส่วนที่เป็นการ์ตูนกับหนังสือภาพเข้ามาถมจำนวนค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นแปลหนังสือของวานวานไป 10 กว่าเล่ม ของจิมมี่ เลี่ยว ที่เป็นนิยายภาพรวมแล้วก็ 10 กว่าเล่ม แต่นอกจากนั้นส่วนใหญ่เป็นนิยายหนาๆ อย่างรหัสลับหลังคาโลก 11 เล่ม บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน 10 เล่ม ตอนนี้เทพยุทธ์เซียน glory ที่กำลังแปลอยู่มี 26 เล่มจบ ก็ทำไปแล้ว 10 เล่ม รวมๆ แล้วจำนวนผลงานท้งหมดทะลุมาที่ 110 เล่ม

เทคนิคการแปลในสไตล์ของตัวเองเป็นอย่างไร?

1. สวมบทบาท เราจะคิดเหมือนกับว่าเราเป็นนักแสดง หรือเป็นนักพากย์ก็ได้ แต่การสวมบทบาทจะมีการสวมบทบาทอยู่ 2 ชั้น สวมบทบาทนักเขียนว่าเราถ่ายทอดเรื่องนี้ยังไง กับสวมบทบาทตัวละครในเรื่อง การตีความบทบาทตัวละครก็เหมือนกับนักแสดงตีความบทตัวเอง เราต้องอ่านหนังสือทั้งเรื่องก่อน เมื่อสวมบทบาทแล้ว เราก็จะใส่สำนวนภาษาที่คิดว่าตัวละครนี้น่าจะพูดแบบนี้ลงไป เป็นการตีความของเรา

2. การสวมบทบาทของบทบาทในเล่ม เราจะไม่แปลทุกคำเป๊ะๆ แต่จะดูน้ำเสียง ดูโทนเสียง ดูสำนวนด้วย

3. เทคนิคส่วนตัว คือต้องอ่านให้เข้าปาก ให้ความรู้สึกว่าเวลาอ่านแล้วลื่นไหล อย่างน้อยก็เข้าปากตัวเอง แต่เข้าปากคนอื่นหรือเปล่าไม่แน่ใจ และที่หนีไม่ได้คือ google ต้องขยันหาข้อมูล เพราะในเรื่องของคำแสลง ภาษามักจะไม่เป็นไปตามที่เห็น

 

หนังสือเล่มที่แปลยากที่สุด ประทับใจที่สุด และขายดีที่สุด?

รหัสลับหลังคาโลกของสยามอินเตอร์ เป็นเล่มที่แปลยากมากใช้เวลา 2 เดือนต่อเล่ม ประมาณ 40 กว่าวัน 2 เดือนออกหนึ่งเล่ม เป็นงานที่ทำยากที่สุด ในส่วนของวรรณกรรมที่ผมแปลน่าจะพิมพ์ซ้ำเยอะสุดและผู้คนรู้จักมากสุด จากตรงนั้นทำให้ผู้คนรู้จักชื่อของอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี ตอนทำเหนื่อยมาก โดยเฉพาะ 2-3 เล่มแรกยังไม่เห็นเสียงตอบรับอะไรมากมาย พอหลังจากนั้นเริ่มมีฟีดแบคที่ดีมา ก็ช่วยเป็นกำลังใจให้เราในการทำงานต่อไป ติดตามต่อไปจนจบ น่าจะเป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด แต่สุดท้ายได้ผลพอใจที่สุดและประทับใจมาก ทำให้เรารู้สึกดีกับวงการนี้และมีไฟที่จะทำต่อไป

สำหรับตอนนี้ความยากของสิ่งที่ทำอยู่คือ ความยาว ความหนา ความเยอะ และความเร่งของเทพยุทธ์เซียน glory

จะเป็นนักแปลไปถึงเมื่อไหร่?

ถ้าหากว่าไม่มีอย่างอื่นมาแย่งเวลาเราไปก็ยังคงจับงานแปลไปเรื่อยๆ อาจจะคัดมากขึ้น และแบ่งเวลามากขึ้น ตราบใดที่ยังไม่หมดแรงซะก่อน ร่างกายยังพร้อม ยังนั่งหน้าคอมฯ นิ้วยังไม่เจ็บ ตลาดยังต้องการ สำนักพิมพ์ ลูกค้ายังต้องการ ก็ทำไปเรื่อยๆ

-------------------------------------------------

ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและถ่ายภาพ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040