泰国/泰中记协/商务
|
วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ห้องแพลตินั่ม โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ถ.รัชดาภิเษก สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมฟังปาฐกถาพิเศษจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางหยางหยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร.เชาวน์ เก่งชน กรรมการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ผศ.ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถานบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายณัฐพงศ์ เลิศวุฒิรักษ์ ผู้จัดการบริษัทท่องไทย มีเดีย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ดร.จื้อกังหลี่ ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวต้อนรับว่าการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้สังคมรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจจีน และผลต่อไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องประโยชน์ที่สองประเทศจะได้รับ โดยเฉพาะโอกาสและช่องทางธุรกิจ ทราบถึงปัญหา อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับเสนอความคิดในการหาแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อทำธุรกิจระหว่างกันอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันถือได้ว่าตลาดการค้าจีนมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่ออนาคตธุรกิจไทย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กล่าวถึงนโยบายและเป้าหมายการค้ากับจีนยุคใหม่ว่า จีน-ไทยมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีย้อนไปในอดีตหลายร้อยปี และมีการพึ่งพิงกันมาโดยตลอด ปัจจุบันไทยส่งออกไปจีนมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของการส่งออกไทยทั้งหมด ส่วนไทยนำเข้าจากจีน 44,237 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.86 และในปัจจุบันจีนลงทุนในไทยเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จีนจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้นโยบายหลายอย่างของไทยยังสอดคล้องกับจีน ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้พ้นจากความยากจน ซึ่งจีนประกาศว่าชาวจีนจะพ้นจากความยากจนในปี 2020 ส่วนไทยมีนโยบายไทยนิยมซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนพ้นจากความยากจน และไทยมีระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสอดคล้องกับ Belt & Road ของจีนด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งสองประเทศเกื้อกูลกันในทางการค้าด้วยดี มีความเข้าใจนโยบายซึ่งกันและกัน และมองเห็นโอกาสที่สอดรับกับนโยบายนั้นๆ ซึ่งการจัดสัมมนาอย่างนี้มีประโยชน์ตรงที่ทำให้เข้าใจข้อมูลข่าวสารและนโยบายของรัฐไปต่อเติมในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน
นางหยางหยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย
ด้านนางหยางหยาง กล่าวว่า เศรษฐกิจการค้าไทย-จีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์อันดี ประเทศจีนมีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมในไทยเป็นแห่งแรก มีการตั้งสถานทูตและสถานกงสุลมากที่สุด และมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมากที่สุด นอกจากนี้อลีบาบาและจินตงซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของจีนก็เข้ามาร่วมงานกับภาคธุรกิจไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทมือถือหัวเว่ยแบรนด์ชั้นนำของจีนเข้ามาเปิดห้องแล็บในไทยเป็นประเทศที่ 7 นอกจากนี้ล่าสุดสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนก็มาเปิดศูนย์ในไทยเป็นแห่งแรก เหล่านี้แสดงให้เห็นความสำคัญที่ไทยมีต่อจีน และย้ำว่าจีนจะยืนหยัดการเปิดประเทศต่อไป ต่อต้านการผูกขาด และส่งเสริมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
(จากซ้าย) ภูวนารถ ณ สงขลา อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน, ดร.จื้อกังหลี่ ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย), ดร.เชาวน์ เก่งชน กรรมการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด, ผศ.ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถานบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายณัฐพงศ์ เลิศวุฒิรักษ์ ผู้จัดการบริษัทท่องไทย มีเดีย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
สำหรับเวที "มองเศรษฐกิจ – ชี้ช่องธุรกิจไทย-จีน ปี 2561" ทุกคนต่างมองว่าจีนคือโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนไทย แต่การเข้าสู่ตลาดจีนก็ไม่ง่าย ยิ่งเมื่อในอีก 30 ปีข้างหน้าที่จีนจะบรรลุเป้าหมาย Made in China การเข้าไปสู่ห่วงโซ่การตลาดยิ่งยากขึ้น เพราะถึงเวลานั้นจีนจะสามารถสร้างสรรค์ผลผลิตได้ด้วยตัวเองถึงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งก็สอดคล้องกับการเดินหน้าประเทศมาตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ เพราะมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง มีการเพิ่มบุคลากรคุณภาพในทุกระดับมาเข้าสู่ตลาดแรงงานและกระบวนการผลิต ขณะที่ประเทศไทยนั้นยังขาดบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งระดับบนและล่าง การเปิดระเบียงเศรษฐกิจเป็นโอกาสที่สามารถเชื่อมต่อกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนได้ แต่อุปสรรคสำคัญคือบุคลากรและสิ่งอำนวยประโยชน์ขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ไม่พร้อมต่อการพัฒนา
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยชัยภูมิด้านที่ตั้งในใจกลางของอาเซียน การมีมูลค่าทางวัฒนธรรม ผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพ การลงทุนเชื่อมต่อระบบราง รวมถึงการเข้าใจตลาดจีน โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล และการเฝ้าติดตามนโยบายภาครัฐของจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงการวางตัวในเวทีนานาชาติของไทยก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปพร้อมกันได้
-------------------------------
พัลลภ สามสี-รายงาน, ณจักร วงษ์ยิ้ม-ถ่ายภาพ