สัมมนาในกระแสนิยม "Drama ในข่าว สร้างสรรค์หรือทำลายในยุคสื่อดิจิทัล"
  2018-03-26 15:02:51  cri

วิทยากรร่วมถ่ายภาพกับคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ในงานสัมมนา "Drama ในข่าว สร้างสรรค์หรือทำลายในยุคสื่อดิจิทัล"

โซเชียลมีเดียเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีอิทธิพลกับประชาชนคนไทยและทั่วโลกเป็นอย่างมาก ด้วยปัจจุบันใครๆ ต่างก็เป็นสื่อได้ และอาจเป็นได้ดีกว่าสื่อเจ้าใหญ่อีกด้วย นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์จึงได้จัดสัมมนาสาระดีโดยใช้ชื่อหัวข้อว่า "Drama ในข่าว สร้างสรรค์หรือทำลายในยุคดิจิทัล" เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีจรรยาบรรณที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเล็งเห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาในบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนต่อการนำเสนอข่าวในยุคที่มีการแข่งขันสูง โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมสมภพ โหตระกิตย์ อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนชื่อดังร่วมเสวนา

อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทันทีที่เทคโนโลยีเข้ามาวงการการศึกษาต้องเป็นเรือธงนำ ต้องพยากรณ์ตลาดว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพราะต้องผลิตคนทำสื่อคุณภาพออกมาและต้องไม่ลืมเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เพราะดิจิทัลทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างง่าย และความง่ายนี่เองคือจุดอ่อน ทำให้บางครั้งจรรยาบรรณ จริยธรรมของสื่อถูกมองข้าม

นายเกรียงไกรมาศ พจนาสุนทร หรือดีเจเคนโด้ ผู้ประกาศข่าวจากช่อง GMM25

นายเกรียงไกรมาศ พจนาสุนทร หรือดีเจเคนโด้ ผู้ประกาศข่าวจากช่อง GMM25 แสดงความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปไม่ได้ต้องการความจริงเพียงอย่างเดียว หากเพียงแต่ต้องการอะไรที่มีสีสันแต่เค้าโครงเรื่องและความเป็นจริงยังคงมีอยู่ นี่คือสิ่งที่สื่อจะต้องปรับตัว และมองว่าสื่อตอนนี้ทุกอย่างเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถจะสื่อสารกับประชาชนด้วยวิธีการไหนก็ตามที่ทำให้ประชาชนสนใจ จรรยาบรรณเปรียบเสมือนจิตใต้สำนึกที่นักสื่อสารมวลชนต้องมี มองว่าทีวีสู้ความเร็วของโซเชียลไม่ได้ แต่สิ่งที่สู้ได้คือ ประเด็นในเรื่องนั้นๆ ที่ต้องการนำเสนอให้แตกต่าง ประเด็นสำคัญที่สุดถ้าสามารถขยายประเด็นให้ถึงแก่น คนก็อยากดูอยากติดตามต่อๆ ไป

นายพิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ประกาศข่าว

จากสำนักข่าว The Standard

นายพิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ประกาศข่าวจากสำนักข่าว The Standard กล่าวว่า ขอใช้คำว่า Media Evolution แทนคำว่า Digital Disruption เพราะยุคนี้ประชาชนสนใจในคาแรคเตอร์ของผู้ประกาศข่าว จนลืมสนใจเนื้อหาของข่าวที่นำเสนอ ติดตามสีสันการเล่าข่าวของผู้ประกาศมากกว่า ในเรื่องดราม่าเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาตลอด จึงใช้ตรงจุดนี้เพื่อทำให้ข่าวสนุก มีสีสัน แต่ถ้ากลับมาที่เนื้อหาจริงๆ แล้ว ความถูกต้องของข่าวสำคัญกว่าอารมณ์ดราม่าเหล่านั้น สุดท้ายต้องกลับมาดูสิ่งที่นำเสนอสังคมว่าได้ประโยชน์อะไร ถ้าหวั่นไหวตามกระแสกันหมด ก็ดูไม่น่าเชื่อถือ เชื่อว่าถ้าสื่อจะอยู่ได้อย่างมั่นคง ยืนยาว ต้องเน้นเรื่องจรรยาบรรณความถูกต้องเป็นสำคัญ

นายพุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผู้ประกาศข่าวช่องอมรินทร์ทีวี

นายพุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผู้ประกาศข่าวช่องอมรินทร์ทีวี แสดงความคิดเห็นว่า หากต้องการตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง นอกจากการดูผ่านมือถือแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับไปหาข้อมูลที่ถูกต้องและได้ข้อเท็จจริงอย่างโทรทัศน์ในที่สุด คนทำงานสื่อมวลชนถ้าใครไม่ปรับตัวก็เหมือนกับหลุดวงโคจร เพราะการนำเสนอข่าวไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน มองว่าคนทำข่าวจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แตกต่างจากคู่แข่ง ถ้าไม่มีความแตกต่างแล้วนั้นอาจทำให้ไม่มีที่ยืนในสนามข่าวก็ได้ แต่บางครั้งคนดูข่าวถ้าเขาไม่เปิดใจ ไม่โดนใจ คนทำข่าวทำดีเท่าไหร่ก็ไม่มีคนดู กรณีคนทำข่าวนำประเด็นจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอ แต่ไม่ยอมศึกษาประเด็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพและจะไม่มีทางเกิดขึ้นในรายการที่ทำอยู่แน่นอน

----------------------------------------------

ยุพินวดี คุ้มกลัด รายงานและถ่ายภาพ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040