ถ้าพูดถึงเรื่องวิศวกรรมการก่อสร้างในยุคไทยแลนด์ 4.0 เราจะพบว่าในวงการมีการเบี่ยงโมเมนตั้มจาก อุตสาหกรรมที่เน้นวัตถุดิบเป็นหลัก กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพานวัตกรรมมากขึ้น โดยแยกย่อยในหลากหลายสาขา ได้แก่ คุณค่า ดิจิทัล การให้บริการ การเข้าใจและใส่ใจ ซึ่งปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี้จะต้องมีการสื่อสารเชื่อมโยงไปกับลูกค้าและตลาดจึงจะครบวงจร
สำหรับการก่อสร้างแล้ว ช่วงเริ่มต้นโครงการและวางแผนงานกินสัดส่วนประมาณ 20% ของระยะเวลาทั้งหมด ซึ่งฟังดูอาจไม่มากนัก แต่มีผลอย่างยิ่งต่อขั้นตอนที่เหลืออีก 80% ที่จะตามมา
ความท้าทายของการก่อสร้างยุคไทยแลนด์ 4.0
(ที่มาภาพ: สไลด์ประกอบการบรรยายฯ ของ รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล)
รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความท้าทายในการวงการก่อสร้างของไทยในยุค 4.0 ซึ่งจะหนีไม่พ้นการผลิต (ที่ผลิตออกมาได้จำนวนต่ำ) การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ปัญหาแรงงาน และขั้นตอนและความสามารถในการจัดการ
งานวิจัยพบว่าจากเมกะโปรเจ็คต์จำนวนกว่า 250 โครงการ ใน 20 ประเทศ มีโครงการมากถึง 90 % ที่ค่าใช้จ่ายบานปลายเกินงบที่ตั้งไว้ และที่อินเดียแค่ประเทศเดียว พบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของโครงการในอินเดียพบปัญหาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินงบประมาณ แถมเกือบครึ่งยังเสร็จไม่ทันตามกำหนดอีกด้วย1
หนึ่งในเทรนด์และโอกาสสำหรับงานด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง คือการสร้าง "เมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" (Smart and Eco City) การ "โก กรีน" (Go Green) หรือการสร้างที่พักอาศัยที่พึ่งพาและเอื้อต่อพลังงานสะอาดกลายเป็นคำตอบของการอยู่รอด หากพูดถึงเมืองที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ชื่อเมืองหลากหลายจากทั่วโลกก็จะผุดขึ้นมา อย่าง มาสดาร์ ซิตี้ เมืองคาร์บอนศูนย์2 แห่งสหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์, วูบอง- เมือง(เกือบ)ปราศจากรถยนต์ หรือ ไฟร์บวร์ก – ชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบของเยอรมนี3 หรือ เต๋อโจว – โซลาร์ วัลลีย์แห่งจีน
แผนผังการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสานของมาสดาร์ ซิตี้ – เมืองที่ "Go Green" ในทะเลทรายอาบูดาบี
(ที่มาภาพ: https://bit.ly/2EjTsEt )
สำหรับประเทศในแถบเอเชียที่เป็นผู้นำในการคิดต้นนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด เมือง "เต๋อโจว" (Dezhou) ถือเป็นหนึ่งในผู้นำ ในอดีตเมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่องไก่ย่างโอชารส แต่ปัจจุบัน "เต๋อโจว" ทำให้บรรดาเหล่าชาวโลกที่ตื่นตัวกับการรักษ์ธรรมชาติรู้สึกรักและคุ้นเคยกับมากขึ้น เพราะคือเมืองที่ขึ้นชื่อว่า "โซลาร์วัลลีย์" หรือเมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศจีน
"ซันมูน แมนชั่น" อาคารเอกลักษณ์ของเมืองเต๋อโจว
(ที่มาภาพ: https://bit.ly/2GAbuZp )
เต๋อโจวตั้งอยู่ในมณฑลซานตง ห่างจากกรุงปักกิ่งเมืองหลวงมาทางใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร เชื่อหรือไม่ว่า ประมาณ 98% ของพลังงานที่ใช้ในเมืองนี้ถูกผลิตจากโซล่าร์เซลล์ เคล็ดลับในการสร้างเมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์ให้สำเร็จขึ้นมาได้ คือ "การกล้าที่จะคิด" "นวัตกรรม" และ "การทำให้เป็นตัวอย่าง"
ภายในเต๋อโจว โรงงานหรืออาคารสาธารณะส่วนใหญ่ได้แหล่งพลังงานมาจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้พวกเขายังวางแผนจะสร้างบ้านที่ใช้พลังงานทางเลือกแบบ 100% อีกด้วย นายหนี เหวยเยวี่ย (Ni Weiyue) - หนึ่งในวิศวกรของโครงการเล่าว่า เทคโนโลยีพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ใช้ในที่อยู่อาศัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเกี่ยวกับอุณหภูมิความเย็น- ความร้อน อุปกรณ์ที่แปลงพลังงานแสงหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "โซลาร์เซลล์" (เซลล์โฟโตโวลตาอิก) หรือ เทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานความร้อน ล้วนเป็นผลพวงมาจากประสบการณ์และการวิจัยค้นคว้าที่ยาวนานถึง 20 ปี โดยโซล่าร์เซลล์หนึ่งแผงสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 200 วัตต์ บ้านเดี่ยวกะทัดรัดแบบชั้นเดียวสามารถติดตั้งโซล่าร์เซลล์ได้ประมาณ 40 แผง ซึ่งเพียงพอต่อการใช้กระแสไฟฟ้าภายในหนึ่งวัน นอกจากการติดแผงโซลาร์เซลล์ให้กับที่อยู่อาศัยแล้ว ในชีวิตประจำวันก็มีข้าวของเครื่องใช้ที่ประยุกต์จากนวัตกรรมที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าหลายอย่าง เช่น รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ชาร์จแบตเตอรี่ (มือถือ/ แท็บเล็ต) แบบพกพา เตาปรุงอาหารพลังแสงอาทิตย์ เป็นต้น4
วิศวกร- หนี เหวยเยวี่ย และเพื่อนร่วมงานร่วมกันรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยเครื่องไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
(ที่มาภาพ: Youtube: China Icons)
จากนวัตกรรมเหล่านี้ ทำให้เต๋อโจวสามารถลดการใช้ถ่านหินได้มากถึง 600,000 ตันต่อปี ด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ทดแทน ภายในเมืองยังมีศูนย์วิจัยเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายหนี เหวยเยวี่ย วิศวกรแห่งเมืองเต๋อโจวกล่าวว่า การที่เศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอาจจะนำมาซึ่งการไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราต้องทำกันตอนนี้ ไม่ใช่การบ่นว่าหรือโวยวายกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการทำอย่างนั้นไม่ได้มีประโยชน์อันใด ในทางกลับกัน เราควรช่วยกันคิดหาทางว่าควรทำอย่างไรถึงแก้ปัญหามลพิษเหล่านั้นได้ แท้จริงแล้วพวกเราสามารถเริ่มต้นช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา พอสำเร็จแล้วก็ค่อยขยายไปยังคนในครอบครัว เพราะทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษได้4
ปัจจุบันจีนทุ่มงบประมาณกว่าปีละ 9 หมื่นล้านหยวน ในการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยให้ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมของจีนค่อนๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี
"หวง หมิง" ผู้ได้รับฉายาว่า "โซล่าร์ คิง" แห่งเมืองจีนก็ยอมรับว่า ทุกคนรู้ว่าโซล่าร์เซลล์ช่วยประหยัดพลังงาน แต่มันก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือถูกใช้อย่างแพร่หลายนักด้วยเหตุผลที่ว่าพอนำมาประกอบกันแล้วมันแลขัดหูขัดตากับตึกรามบ้านช่อง เขาจึงตั้งใจทำให้ "ซันมูนแมนชั่น" ซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้หลักในเมืองเต๋อโจว เป็นต้นแบบและตัวอย่างของอาคารที่ถูกออกแบบอย่างงดงามและมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักในเกือบทุกจุดของอาคาร5
"หวง หมิง" เจ้าของฉายา "โซล่าร์ คิง" จากแดนมังกร
(ที่มาภาพ: https://bit.ly/2q8f7L2 )
สำหรับประเทศไทย ในยุค 4.0 ที่รัฐบาลกำลังมุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีในพื้นที่ภาคตะวันออก การเน้นเรื่องการนำพลังงานทดแทนมาใช้ ทั้งแบบโมเดลทดลองและการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าเมื่อปีทีที่แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพิ่งประกาศจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจุดเด่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือการรวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิดเป็นที่แรกของประเทศ ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ การจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ทับสะแกถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน และทาง กฟผ. คาดหวังว่าจะสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้าด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสาน และการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นต่อไป ทางฝั่งวงการก่อสร้างของไทยเองก็คงต้องจับตาและติดตามเทคโนโลยีเรื่องพลังงานทางเลือกและการประหยัดพลังงาน รวมทั้งประยุกต์ใช้ในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องให้มากขึ้น6
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทับสะแก
(ที่มาภาพ: https://www.egat.co.th )
สำหรับวิศวกรรมและการก่อสร้างในยุคไทยแลนด์ 4.0 ยังคงมีโอกาสสำหรับผู้ที่พร้อมปรับตัวอย่างเหมาะสม การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะเครื่องจักร สาธารณูปโภค และสังคมอันประกอบไปด้วยมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และผลกำไร จะยังคงมีผลและเชื่อมโยงกันและกันในวงจรอยู่เสมอ
อ้างอิง:
1. รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล, บรรยายเรื่อง 'นวัตกรรมและเทคโนโลยีก่อสร้างในยุคไทยแลนด์ 4.0', งานสัมมนาวิชาการ 'สัญญาณเตือน…เมกะโปรเจกต์ไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง' , 29 มีนาคม 2561, โรงแรมดิเอ็มเมอรัล
2. วิสาข์ สอตระกูล, MASDAR CITY ความหวังกลางทะเลทรายเพื่อลมหายใจบริสุทธิ์, TCDC.or.th, 3 พฤษภาคม 2556, https://bit.ly/2InUKkd
3. จักรสิน น้อยไร่ภูมิ, 'Solar Settlement' ชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบในเยอรมัน ,CreativeMove.com, 24 กุมภาพันธ์ 2014, https://bit.ly/2JewfaB
4. China Icons, Secrets of China's Solar City | Inside Dezhou | A China Icons Video, 22 Jun 2016, https://bit.ly/2q92NKr
5. Jiao Feng, 'Sun-Moon Mansion: World's Largest Solar-powered Building in the World's Largest Research and Development Base', China Today Journal, 15 Sep 2010. P.14-16
6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 'กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย', 15 พฤษภาคม 2017, https://bit.ly/2Iwm53I
--------------------
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿