ธรรมชาติยิ่งใหญ่สุดลูกหูลูกตา บรรยากาศไม่เหมือนดินแดนไหนในโลก ทำให้การท่องเที่ยวทวีปขั้วโลกใต้กลายเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ โดยชาวจีนก็ได้เดินทางไปเฉลิมฉลองตรุษจีนกันที่ขั้วโลกใต้
ล่าสุดในช่วงระหว่างวันที่ 14 มกราคม ถึง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "ฟลิกกี้ทัวร์" ของกลุ่มอาลีบาบาได้เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวขั้วโลกใต้โดยเฉพาะ มีนักท่องเที่ยวจากท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน 2,000 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยสารเครื่องบินออกจากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และ เมืองกว่างโจว เดินทางไปยังประเทศชิลีเป็นเวลา 35 ชั่วโมง จากนั้นจึงต่อเรือเดินสมุทร มุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ทัวร์นี้ใช้เวลา 16 วัน สนนราคาอยู่ที่ 49,999 หยวน โดยมีเวลา 5 วัน คือ จากวันที่ 7 - 11ของการเดินทาง ที่นักเดินทางได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่บนขั้วโลกใต้
มีรายงานว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปขั้วโลกใต้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ในจำนวนนี้ มีอยู่ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เกิดในทศวรรษปี 1980 และ มีอยู่ 1 ใน 3 เกิดในทศวรรษ 1990
นางสาวหวาง เสี่ยวหมิง วัย 31 ปี ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ เธอได้ทำงานล่วงเวลากว่าสองเดือน เพื่อให้ได้วันหยุดติดต่อกันเป็นเวลา 17 วัน เธอบอกว่า ในรอบปี 2017 ที่ผ่านมา เธอเป็นผู้แพ้ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ไม่ราบรื่น เธอจึงตัดสินใจว่าจะหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยวขั้วโลกใต้ เพื่อปล่อยตัวเอง ให้คิดใหม่ และ เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
นางสาวอา เย่ เล่าว่า เมื่อก่อนไม่ว่าไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือ ยุโรป มักจะกินกินกิน หรือ ช็อปช็อปช็อป จนรู้สึกเบื่อ จนเมื่อสิ้นปี 2017 บริษัทไอทีที่เธอทำงาน เลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง เธอจึงใช้เงินชดเชยการเลิกจ้างไปเที่ยวขั้วโลกใต้ เธอประทับใจความเขย่าขวัญของขั้วโลกใต้ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสีขาวอันบริสุทธิ์เหมือนไอศกรีม เมื่อได้ดูวิดีโอบันทึกการเดินทางของนางสาวอา เย่ แล้ว เพื่อนบางคนของเธอรู้สึกไม่เข้าใจ และถามเธอว่า เธอทนน้ำทนฝนทนหนาว และ เสียเงินเพื่อเดินกลางทุ่งหิมะเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งมองไปรอบตัวแล้วก็ไม่เห็นอะไรไปทำไม
ซู จือปิน หนุ่มวัย 32 ปี ที่ได้รับปริญญาโท 2 ใบจากออสเตรเลีย ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจของตัวเอง เล่าว่า ในปี 2017 เขาไม่เคยแพ้ รู้สึกว่าตัวเองนำหน้ากว่าคนส่วนใหญ่ การไปขั้วโลกใต้ครั้งนี้ก็เพื่อท้าทายตัวเอง ศึกษาค้นคว้าศักยภาพของตัวเองเพื่อไปให้ทันกับความเร็วของโลก ก่อนเดินทาง เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ 4 เล่ม ระหว่างอยู่บนเรือเดินสมุทร เขายืนหยัดออกกำลังอายในห้องออกกำลังกายทุกวัน แม้เผชิญมรสุมก็ไม่เว้น นอกจากนี้ เขายังได้ทดลองว่ายน้ำในบริเวณน่านน้ำริมฝั่งขั้วโลกใต้ ที่มีอุณหภูมิใต้ผิวน้ำติดลบ 3 องศา
นายฉวน จินหวา มัคคุเทศก์จากปักกิ่ง เขาได้นำเที่ยวขั้วโลกใต้มาตั้งแต่เมื่อปี 2014 เขาเล่าว่า การให้นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของขั้วโลกใต้สำคัญมาก ทุกครั้งที่เราจัดทัวร์ไปขั้วโลกใต้ ต้องให้ความรู้ และ การฝึกอบรมแก่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหมดก่อนการเดินทาง และ ระหว่างทางขณะนั่งเรือเดินสมุทร เพื่อให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของสมาคมองค์การท่องเที่ยวขั้วโลกใต้ระหว่างประเทศ (IAATO) อย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต้องห่างจากเพนกวินอย่างน้อย 5 เมตรขึ้นไป ห้ามทิ้งขยะ ห้ามนำสิ่งของใด ๆ ก็ตามออกจากขั้วโลกใต้ แม้แต่ก้อนหิน ดิน หรือ น้ำ ก็ตาม สิ่งที่หลงเหลือเอาไว้ได้เพียงอย่างเดียว คือ รอยเท้า
จากสถิติพบว่า คนจีนสนใจไปเที่ยวขั้วโลกใต้เพิ่มจาก 100 คนในปี 2008 เป็น 30,000 - 40,000 คนต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นชาติลำดับที่สองรองจากสหรัฐฯ ที่นิยมเดินทางไปเยือนขั้วโลกใต้ หวังว่าความสนใจเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ของชาวจีนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในขั้วโลกใต้ และจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนให้รู้สึกรัก และ หวงแหนธรรมชาติมากยิ่งขึ้น