เมื่อปี 1989 ทีมสำวจขั้วโลกใต้นานาชาติซึ่งประกอบด้วยนักสำรวจจาก 6 ประเทศ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี และ จีน ใช้เวลากว่า 7 เดือนเดินทางเกือบ 6,000 กิโลเมตรจากภาคตะวันตกถึงภาคตะวันออกของขั้วโลกใต้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นครั้งแรก ที่มนุษยชาติได้เดินทางข้ามดินแดนทวีปขั้วโลกใต้
นายฉิน ต้าเหอ ในวัย 42 ปี จากสถาบันวิจัยธารน้ำแข็งมหาวิทยาลัยหลานโจว มณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สมัครเข้าร่วมทีมสำรวจดังกล่าว ในคณะสำรวจครั้งนี้ มีแต่ฉิน ต้าเหอ และ ผู้แทนจากอดีตสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนที่เหลืออีก 4 คนล้วนเป็นนักผจญภัย
เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคมปี 1989 นายฉิน ต้าเหอกับเพื่อนร่วมคณะอีก 5 คน ผู้สื่อข่าวจากประเทศต่าง ๆ 20 คน สุนัข 42 ตัว พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และวัสดุต่าง ๆ น้ำหนักรวมกว่า 40 ตัน โดยสารเครื่องบินของอดีตสหภาพโซเวียต ออกเดินทางจากสนามบินระหว่างประเทศมินเนอาโปลิส (Minneapolis) ของสหรัฐอเมริกา ไปยังขั้วโลกใต้
นายฉิน ต้าเหอเล่าให้ฟังว่า แคร่เลื่อนหิมะที่ลากโดยสุนัขเป็นพาหนะหลักของเรา ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ เราได้เผชิญพายุหิมะอยู่บ่อย ๆ เราเรียกว่า "Whiteout" เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี เมื่อเกิดพายุหิมะแต่ละครั้ง เราจะไม่สามารถมองเห็นเส้นทาง หรือ สิ่งที่อยู่รอบตัวได้เลย แม้อยู่ในระยะ 2-3 เมตรก็ตาม ซึ่งทำให้การเดินทางของเราต้องล่าช้า บางวัน เดินทางได้เพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น
มีเครื่องบินช่วยขนส่งเสบียงถึงจุดสำรองอาหารที่กำหนดไว้ โดยแต่ละจุดห่างกัน 250-600 กิโลเมตร แต่ละจุดจะให้อาหารสำหรับรับประทานไปได้ 20 วัน ต่อคน และอาหารสำหรับสุนัขอีก 10-15 วัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราหาจุดสำรองอาหารไม่เจอ อาหารที่เหลืออยู่ กินได้อีกเพียง 4-5 วันเท่านั้น อาหารของสุนัขเหลือแค่ปริมาณที่กินได้ 1-2 วัน ทั้งคน และ สุนัขต้องกินน้อยลง โดยคนจะมีปริมาณอาหารเพียงครึ่งหนึ่งของปกติ ส่วนสุนัขมีอาหารเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณอาหารปกติ
พูดถึงสุนัข เพื่อนสนิทของมนุษย์ ได้เคยมีบทบาทสำคัญในการช่วยมนุษย์พิชิตขั้วโลกใต้ แต่พร้อม ๆ กับการพัฒนาทางเทคโนโลยี สุนัขจำเป็นต้องถอนตัวออกจากทวีปขั้วโลกใต้หมด เพราะเมื่อปี 1991 องค์การสนธิสัญญาขั้วโลกใต้พิจารณาถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในขั้วโลกใต้ จึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้สุนัขอาศัยอยู่ในขั้วโลกใต้ต่อไป โดยสุนัขทุกตัวต้องออกไปจากขั้วโลกใต้ก่อนเดือนเมษายนปี 1994 ทุกวันนี้ ขั้วโลกใต้เป็นทวีปหนึ่งเดียวในโลกที่ปราศจากสุนัข
กลับมาคุยเรื่องการสำรวจขั้วโลกใต้ของนายฉิน ต้าเหอต่อนะคะ ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ นายฉิน ต้าเหอได้เก็บตัวอย่างหิมะกว่า 800 ตัวอย่าง รวบรวมข้อมูลด้านธารน้ำแข็ง ดินฟ้าอากาศ และ สิ่งแวดล้อมของขั้วโลกใต้ ซึ่งช่วยเติมเต็มช่องว่างของการวิจัยที่ขาดหายไปของจีน
การเดินทางครั้งนั้นจะต้องถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะนายฉิน ต้าเหอ เป็นคนจีนคนแรกที่ได้เดินทางข้ามทวีปแอนตาร์กติกา
นับเป็นอีกครั้งที่คนจีนได้ภาคภูมิใจในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์จีนที่โดดเด่นในระดับสากล นายต่ง เจ้าเฉียน นายจาง ชิงซง และ นายฉิน ต้าเหอ นักวิทยาศาสตร์จีน 3 คนดังกล่าวนี้ ถือเป็นผู้บุกเบิกการเดินทางข้ามทวีปแอนตาร์กติกาของจีน
ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ มีพื้นที่ประมาณ 14 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 8,750 ล้านไร่ เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก เป็นทวีปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดโดยเฉลี่ยที่ 2,350 เมตร และอยู่ในทุกเขตเวลาบนโลกใบนี้ พื้นที่เกือบ 99% ของขั้วโลกใต้ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง เป็นทวีปที่ดินฟ้าอากาศเลวร้ายที่สุด หนาวสุดขั้ว ลมแรงสุดขั้ว และ อากาศสุดแห้งแล้ง เล่ากันว่า แม้เป็นดั่งเหล็กกล้า แต่เมื่ออยู่ในแอนตาร์กติกาแล้ว ก็จะกรอบเหมือนดั่งกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีของขั้วโลกใต้อยู่ที่ระหว่างติดลบ 60 - 80 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเท่าที่เคยมีการจดบันทึกไว้ได้โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน คือ ติดลบ 93.2 องศาเซลเซียส บันทึกไว้เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2010 ขั้วโลกใต้ยังเป็นพื้นที่ที่ลมแรงที่สุดในโลก ทุกปีมีกว่า 300 วันที่ระดับความรุนแรงของพายุสูงถึงระดับ 8 ขึ้นไป ความเร็วลมของพายุสูงสุดที่เคยได้มีการบันทึกไว้ คือ 82 เมตรต่อวินาที ปริมาณฝน และ หิมะตกของขั้วโลกใต้แทบจะเป็นศูนย์ น้อยกว่าทะเลทรายสะฮาราเสียอีก ขั้วโลกใต้จึงมีสมญานามว่า เป็น "ทะเลทรายทุรกันดารสีขาว"
ขั้วโลกใต้ได้รับการขนานนามว่า คลังน้ำแข็งของโลก โดยมีธารน้ำแข็งปกคลุมเกือบทั้งทวีป 90% ของน้ำแข็งทั่วโลกรวมอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีน้ำบริสุทธิ์ประมาณ 70% ของพื้นโลกด้วย ขั้วโลกใต้มีสินแร่ชนิดต่าง ๆ กว่า 220 ชนิด ปริมาณสำรองถ่านหิน เหล็ก และปิโตรเลียมของขั้วโลกใต้ล้วนอยู่อันดับแรกของโลก ปริมาณสำรองถ่านหินมีถึง 5 แสนล้านตัน สามารถให้ทั่วโลกนำไปใช้ได้เป็นเวลาถึง 200 ปีได้ ส่วนปริมาณสำรองน้ำมันดิบมีมากถึง 50,000 ล้านบาร์เรล ปริมาณสำรองแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ 3-5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ขั้วโลกใต้ยังอุดมไปด้วยปลา และ กุ้งนานาพันธุ์ โดยเฉพาะกุ้งขั้วโลกใต้ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคสัตว์น้ำของมนุษย์ได้ ส่วนนกที่มีจำนวนมากที่สุดบนขั้วโลกใต้ คือ เพนกวิน นอกจากนี้ ขั้วโลกใต้ยังมีวาฬ แมวน้ำ และ สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอีกกว่า 16,000 ชนิด
ขั้วโลกใต้เป็นทวีปสุดท้ายที่มนุษย์ได้ค้นพบเมื่อปี 1820 และเป็นทวีปหนึ่งเดียวที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นแผ่นดินที่อยู่ห่างไกล โดดเดี่ยว และ หนาวเหน็บ เมื่อปี 1903 ประเทศอาเจนตินาได้ก่อสร้างสถานีวิจัยแห่งแรกบนขั้วโลกใต้ ถือเป็นการเริ่มต้นการสำรวจ และ วิจัยทางวิทยาศาสตร์ในขั้วโลกใต้ของมวลมนุษยชาติ นักสำรวจชาวนอร์เวย์ โรอัล อามันเซ็น (Roald Amundsen) เป็นคนแรกที่ไปถึงจุดที่อยู่ทางทิศใต้สุดของโลก (South Pole) เมื่อปี 1911
เพื่อกำหนดให้ทวีปขั้วโลกใต้เป็นสมบัติของมนุษยชาติ จึงมีการห้ามทำกิจกรรมทางการทหาร และ การพาณิชย์ ยับยั้งการอ้างสิทธิเหนือดินแดน แต่ส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยเพื่อสันติภาพ ประเทศอาเจนตินา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส อังกฤษ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวม 12 ประเทศ ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อปี 1959 โดยจีนได้เข้าร่วมสนธิสัญญาขั้วโลกใต้เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1985 ปัจจุบัน มีประเทศที่ร่วมลงนาม และยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้กว่า 50 ประเทศแล้ว และมี 28 ประเทศได้ก่อสร้างสถานีวิจัยกว่า 50 สถานีบนทวีปขั้วโลกใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว