การทำสำรวจการใช้เวลาของชาวจีน
  2018-07-11 09:27:16  cri

 

ผู้คนมักพูดติดปากกันว่า "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" เนื่องจากทุกคนต้องมีความรู้สึกว่า เวลาเป็นสิ่งที่ผ่านเลยไปโดยที่ไม่มีใครสามารถเหนี่ยวรั้งไว้ได้ และพร้อมไปกับวันเวลาผ่านเลยไปโดยไม่รู้ตัวนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะถามตัวเองว่า เวลาหายไปไหนหมด?

คำถามดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่คนจีนทั่วไปสนใจเท่านั้น หากยังเป็นที่สนใจจากภาครัฐด้วย ในอนาคตอีกไม่นานเกินรอ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนจะเป็นผู้ให้คำตอบนี้ได้ เนื่องจากกำลังเริ่มทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาของชาวจีนทั่วประเทศแล้ว นับเป็นการทำสำรวจเรื่องนี้ของรัฐครั้งที่ 2 หลังจากทำครั้งแรกเมื่อปี 2008

ส่วนคำถามว่า การทำสำรวจการใช้เวลานั้นคืออะไร?ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องให้คำอธิบายไว้ด้วยแล้ว โดยนายจาง จ้งเหลียง อธิบดีกรมสถิติฝ่ายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวัฒนธรรมทางสังคม สังกัดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแนะนำว่า การทำสำรวจนี้เป็นการทำเก็บข้อมูลว่า ผู้คนได้ใช้เวลาไปทำสิ่งใดและใช้เวลามากน้อยแค่ไหน

อย่างเช่น มีตารางการใช้เวลาลงบันทึกไว้ว่า ตื่นตอน 6 โมงเช้า ใช้เวลาล้างหน้าแปรงฟันและแต่งหน้าแต่งตัว 30 นาที แล้วทานอาหารเช้าโดยใช้เวลา 20 นาที จากนั้น ออกจากบ้านไปทำงานโดยนั่งรถไฟใต้ดินเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ถึงที่ทำงานประมาณ 8 โมงเช้า แล้วนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 4 ชั่วโมง…… สุดท้ายเข้านอนตอนประมาณ 5 ทุ่ม การทำสำรวจการใช้เวลาก็คือเก็บข้อมูลรายละเอียดเช่นนี้ แล้วนำมาวิเคราะห์ถึงคนกลุ่มหนึ่งหรือบรรดาคนทั่วไป

นายจาง จ้งเหลียงเห็นว่า การทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาเป็นการทำสำรวจที่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึก มีความน่าสนใจ และมีเนื้อหามากมาย ที่ว่ามีความรู้สึกหมายถึง ทุกคนจะมีความรู้สึกว่า เวลามันมีอยู่จริงๆ แต่ละคนมีนาฬิกาชีวิตที่ฝังอยู่ในร่างกาย ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทุกวัน คนส่วนใหญ่มักเริ่มงาน 9 โมงเช้าและเลิกงานบ่าย 5 โมง มีกรอบของเวลาจำกัดไว้ ทำให้ทุกคนต่างมีความรู้สึกว่า เวลาอยู่กับเราจริงๆ

ที่ว่ามีความน่าสนใจ เพราะว่าการใช้เวลาของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อย่างเช่น ในรถไฟใต้ดินช่วงเช้า บางคนหลับตาพักผ่อน บางคนคุยวีแชทมือถือ ในตอนเที่ยง พนักงานพากันไปโรงอาหารแล้ว ส่วนผู้บริหารยังร่วมการประชุมอยู่ ในช่วงเย็น แม่สอนลูกทำการบ้านอยู่ ขณะที่พ่อนั่งดูทีวีในห้องข้างๆ ทุกคนมีความเคยชินของตนในการใช้เวลาที่แตกต่างกัน

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ สถิติระบุว่า ยิ่งเป็นคนที่มีภาระหน้าที่หนักใหญ่ ยิ่งจะหวงแหนเวลาในการใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คนแบบนี้ยอมใช้เวลามากที่สุดกับการทำงานเท่าที่จะมากได้ แล้วคนที่อายุต่างกัน ทำอาชีพต่างกัน และอาศัยอยู่ในเขตที่ต่างกัน ก็จะมีความแตกต่างกันมากในการใช้เวลาด้วย ความแตกต่างเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ที่ว่ามีเนื้อความ เพราะว่ามองจากการใช้เวลาของผู้คน จะพบสิ่งต่างๆ ที่แฝงอยู่มากมาย อาทิ สถิติจากผลการทำสำรวจการใช้เวลาโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเมื่อปี 2008 ระบุว่า สำหรับเวลาทำงานที่ไม่มีค่าตอบแทน ผู้หญิงในเมืองคือ 3 ชั่วโมง 36 นาที ในเขตชนบทคือ 3 ชั่วโมง 46 นาที ซึ่งต่างกันแค่ 10 นาที ส่วนผู้ชายในเมืองคือ 96 นาที ขณะผู้ชายในชนบทคือ 59 นาที ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก

สถิติที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นคือ ผู้หญิง 3 ชั่วโมง 38 นาที ผู้ชาย 45 นาที ส่วนสถิติในสหรัฐฯคือ ผู้หญิง 3 ชั่วโมง 29 นาที ผู้ชาย 2 ชั่วโมง 13 นาที ทั้งนี้คงสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสามประเทศนี้ในด้านประเพณีวัฒนธรรมและแนวคิดครอบครัว

สำหรับคุณค่าของการทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลานั้น นักวิเคราะห์เห็นว่า มีความหมายพิเศษต่อสังคม ก่อนอื่น การทำสำรวจเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับหนึ่ง เนื่องจากรวมถึงการใช้เวลาของผู้คนในกิจกรรมต่างๆ เช่น เวลาทำงาน เวลานอนหลับ เวลาพักผ่อนหย่อนใจ

ในจำนวนนี้ เวลาทำงานสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการผลิตแรงงานของสังคมในระดับหนึ่ง เวลาพักผ่อนหย่อนใจสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความสุขของประชาชนในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ มีหลายประเทศถือการใช้เวลาของประชาชนเป็นตัววัดถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น ดัชนี GNH ของภูฏาน ดัชนี CIW ของแคนาดา และดัชนี MNW ของอังกฤษ ซึ่งต่างรวมเอาสถิติด้านการใช้เวลาเข้าไว้ด้วย อันที่จริง ผลการทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลานี้ สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค และความสัมพันธ์ระหว่างระบบสังคมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลการใช้เวลาของพลเมืองนั้น ยังเอื้อประโยชน์ต่อการเปิดมุมมองใหม่ในการสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม เมื่อ 10 ปีก่อน ผู้คนใช้เวลามากมายกับการอ่านหนังสือพิมพ์และดูโทรทัศน์ แต่ปัจจุบัน ชาวจีน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวคงใช้เวลากับวีแชทมากกว่าเยอะ คนที่ยุ่งกับวีแชททุกที่ทุกเวลา รวมถึงขณะเดินทางหรือทานอาหาร ก็มีจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเห็นได้ในสถิติการทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาของผู้คน อนึ่ง สถิติยังระบุว่า ตั้งแต่ปี 1996 ถึงปี 2016 เวลาทำงานเฉลี่ยต่อวันของพลเมืองปักกิ่งลดลง 27 นาที ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความคืบหน้าของสังคมในระดับหนึ่ง

คุณค่าของผลการทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาอีกประการคือ สามารถประเมินผลของนโยบายทางสังคมจำนวนหนึ่ง เช่น นโยบายความเสมอภาคทางเพศ เราสามารถประเมินผลนโยบายดังกล่าวด้วยการเทียบรายได้การทำงานระหว่างชายกับหญิง และก็สามารถประเมินผลได้โดยผ่านการทำสำรวจถึงการใช้เวลาของชายกับหญิง นอกจากนี้ สถิติการใช้เวลายังสามารถประเมินผลการดำเนินนโยบายสาธารณะอื่นๆในทั้งด้านการดูแลเด็ก การคมนาคมขนส่ง ความบันเทิง การให้บำนาญ การรักษาพยาบาล และการสร้างสรรค์ของเมือง เป็นต้น พร้อมทั้งทดสอบความสมดุลของการพัฒนาทางสังคมได้

ที่จริงแล้ว การทำสำรวจการใช้เวลาได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน เพราะระหว่างปี 1920-1950 สหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างก็มีการทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาของประชาชนหลายครั้ง หลังจากปี 1960 มี 80 ประเทศและเขตแคว้น รวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อินเดีย และแอฟริกาใต้ เป็นต้น ทยอยกันกำหนดนโยบายการทำสำรวจในด้านนี้โดยเฉพาะ จนถึงปัจจุบัน การทำสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลาได้กลายเป็นความเห็นพ้องต้องกันและร่วมมือกันทำของประชาคมสถิติโลก

ในจีน ตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา องค์กรและหน่วยงานวิจัยจำนวนหนึ่งก็เริ่มดำเนินการทำสำรวจการใช้เวลาของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ปีหลังๆ นี้ ยังปรากฏการศึกษาวิจัยถึงการใช้เวลาบนพื้นฐานของข้อมูลบิ๊กดาต้าในโลกสังคมออนไลน์ แต่การทำสำรวจเหล่านี้ส่วนใหญ่เจาะจงต่อกลุ่มคนบางกลุ่มหรือกิจการเฉพาะด้านเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนจึงตกลงจะเริ่มทำสำรวจการใช้เวลาต่อประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2018 เพื่อนำไปวิเคราะห์สภาพโดยรวมของปวงชนทั้งชาติ

Yim/Sun

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040