การท่องเที่ยวเขตทิเบต (๑)
  2018-07-25 22:10:58  cri

เขตปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีวัฒนธรรมที่น่าค้นหา มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีทิวทัศน์ที่น่าอัศจรรย์ เป็นดินแดนสำคัญส่วนหนึ่งของจีนซึ่งมีความลึกลับในสายตาของชาวโลก แม้แต่ชาวจีนเองก็ยังไม่สามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของทิเบตได้ดี นี่จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจีนและต่างประเทศจำนวนมากให้มาสัมผัสบรรยากาศของทิเบต ที่หลายคนบอกว่า ไปทิเบตแล้วรู้สึกจิตใจสะอาดขึ้น

ทิเบตตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงจั้ง (青藏高原) ติดกับเขตซินเจียง มณฑลเสฉวน มณฑลชิงไห่ และมณฑลหยุนหนานของจีน นอกจากนี้ยังมีชายแดนติดกับหลายประเทศ เช่น พม่า อินเดีย เนปาล และภูฏาน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยมากกว่า 4,000 เมตร จึงเป็นที่มาของสมญานามว่า "หลังคาโลก" ทิเบตเป็นเขตที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1,202,230 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1/8 ของจีน ซึ่งถือเป็นเขตใหญ่อันดับสองรองจากเขตซินเจียง ซึ่งขึ้นชื่อด้วยทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงามและยิ่งใหญ่ ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ และวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยอันน่าค้นหา 

ประวัติศาสตร์

ในสมัยราชวงศ์ถัง ชนเผ่าทิเบต ชื่อก๊ก "ถู่ปัว" (吐蕃) พระเจ้าซรอนซันกัมโป (松赞干布) กษัตริย์ของถูปัวนับถืออารยธรรมของสมัยราชวงศ์ถังมาก จึงขอแต่งงานกับพระราชธิดาของราชวงศ์ถังหลายครั้ง จนถึงปี 641 จักรพรรดิถังไท่จงจึงมีรับสั่งให้พระราชธิดาเวนเชิง (文成公主) แต่งงานกับพระเจ้าซรอนซันกัมโป เพื่อเป็นการส่งเสริมมิตรภาพระหว่างราชวงศ์ถังกับถู่ปัว และเผยแพร่วัฒนธรรมและแนวคิดของราชวงศ์ถังไปสู่ถู่ปัว

ครั้งในสมัยราชวงศ์หยวน รัฐบาลยกทัพไปต่อสู้และช่วงชิงพื้นที่อันกว้างใหญ่ นับเป็นยุคที่จีนมีดินแดนมากที่สุด ซึ่งทิเบตเองก็ตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลราชวงศ์หยวน จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน โดยมีชื่อว่า "อูซือจั้ง" (乌斯藏) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซีจึงทรงเปลี่ยนชื่อให้เป็น "ทิเบต" จนถึงปัจจุบัน

นับแต่สงคราฝิ่นในปี 1840 เป็นต้นมา ทิเบตถูกรุกรานจากลัทธิจักรวรรดินิยมมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังถูกกลุ่มอิทธิพลแบ่งแยกดินแดนควบคุมอำนาจ จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1951 รัฐบาลจีนจึงปลดแอกทิเบตอย่างสันติ และถือวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1965 เป็นวันประกาศเขตปกครองตนเองทิเบตขึ้น

สภาพทั่วไป

ทิเบตมีพื้นที่กว้างใหญ่ เทียบได้กับเนื้อที่ทั้งหมดของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กรวมกัน อากาศของทิเบตมีฤดูแล้งกับฤดูฝน ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ส่วนฤดูฝนเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน ปริมาณฝนที่ตกในฤดูฝนคิดเป็น 90% ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมดของปี พื้นที่ทางตอนใต้ของทิเบตกับพื้นที่ทางตอนเหนือมีความแตกต่างกันมาก ทางใต้ของทิเบตมีอากาศอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 8 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ -16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียส ส่วนทางเหนือของทิเบตมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส พื้นที่ดังกล่าวปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งยาวนานถึงครึ่งปี ทำให้อุณหภูมิสูงสุดของพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ในระดับไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส หากพิจารณาสภาพอากาศแล้ว ช่วงเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนตุลาคม นับเป็นช่วงเหมาะสมแก่การท่องเที่ยวทิเบต ส่วนช่วงเวลาที่ดีที่สุดจะอยู่ในเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน

นอกจากพื้นที่ขนาดใหญ่แล้ว ทิเบตยังเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนทะเลสาบมากที่สุดในประเทศจีน โดยมีเนื้อที่รวมกันทั้งหมด 23,800 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของเนื้อที่ทะเลสาบทั้งหมดของจีน ทะเลสาบในทิเบตมีทั้งทะเลสาบน้ำจืดและทะเลสาบน้ำเค็ม โดยทะเลสาบเหล่านื้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของทิเบต

ด้านประชากร ทิเบตมีทั้งชนเผ่าฮั่นและชนเผ่าทิเบต ซึ่งนอกจากโรงเรียนที่รับสมัครนักเรียนชนเผ่าฮั่นเป็นหลักแล้ว โรงเรียนประถมส่วนใหญ่ยังเปิดสอนวิชาภาษาทิเบต และใช้ทั้งภาษาจีนกลางและภาษาทิเบตในการเรียนการสอน ชาวทิเบตส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีวัดในพุทธศาสนากว่า 1,700 แห่ง และมีพระสงฆ์ประมาณ 46,000 รูป ความพิเศษของวัดในพุทธศาสนานิกายทิเบตถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีประชากรที่นับถือศาสนายงจ้งเปิ่นเจี้ยว (雍仲本教) ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์

ชนเผ่าทิเบตมีอาหารของเป็นของตนเอง ชาวทิเบตส่วนใหญ่ชอบกินอาหารที่มีไขมันและโปรตีนสูง เนื่องจากต้องเผชิญกับอากาศอันหนาวเหน็บ ซึ่งรวมไปถึงเนื้อวัวและเนื้อแพะ ชาเนยจามรี (酥油茶) ขนมแซมปา และผลิตภัณฑ์จากนม อาหารทิเบตไม่ใช้เครื่องปรุงมาก ส่วนใหญ่ใช้เพียงเกลือ กระเทียม และหัวหอม

ชาวทิเบตนิยมกินเหล้าชิงเคอ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวชิงเคอ ซึ่งเป็นข้าวบาร์เลย์ชนิดหนึ่ง (highland barley) นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฉลองเทศกาลต่าง ๆ เมื่อดื่มอวยพรแก่ผู้ใหญ่ ชาวทิเบตจะใช้สองมือยกแก้วสูงกว่าศรีษะ จากนั้นจึงยื่นให้ผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่เมื่อรับแก้วแล้ว จะใช้มือซ้ายถือแก้ว จากนั้นใช้นิ้วนางของมือขวาจุ่มเหล้าแล้ว ดีด 3 ครั้ง ทำเช่นนี้ซ้ำกัน 3 ครั้ง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อท้องฟ้า ผืนดิน และเทพเจ้า โดยผู้ใหญ่จะมีการกล่าวคำอวยพร และคำสิริมงคลก่อนแล้วจึงค่อยดื่ม 

การเดินทาง

แม้ทิเบตจะอยู่ห่างไกลจากภาคกลางของจีน แต่การเดินทางนั้นค่อนข้างสะดวก โดยมีถนนทางหลวงทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่สำคัญของจีนเข้ากับเขตทิเบต ซึ่งรวมไปถึงทางหลวงชิงจั้ง (ชิงไห่-ทิเบต) ทางหลวงซินจั้ง (ซินเจียง-ทิเบต) ทางหลวงชวนจั้ง (เสฉวน-ทิเบต) และทางหลวงเตียนจั้ง (หยุนหนาน-ทิเบต)

การเดินทางด้วยรถไฟก็มีความสะดวกไม่แพ้กัน โดยมีเส้นทางหลายสาย เช่น ทางรถไฟชิงจั้ง (ชิงไห่-ทิเบต) ทางรถไฟลารื่อ (เมืองลาซา-เมืองชิกัตเซ่ Shigatse) และทางรถไฟชวนจั้ง (เสฉวน-ทิเบต)

นอกจากนี้แล้ว เครื่องบินยังเป็นตัวเลือกให้เดินทางไปยังทิเบตได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยเขตทิเบตมีสนามบินหลายแห่ง เช่นที่ เมืองลาซา เมืองชังตู เมืองหลินจือ เมืองอาหลี่ และเมืองชิกัตเซ่ (日喀则)

หากกล่าวถึงความสะดวกในการไปเที่ยวทิเบตแล้ว การเดินทางจากเมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน น่าจะมีสะดวกกว่าเส้นทางอื่น ๆ เพราะมณฑลเฉิงตูมีพรมแดนติดกับเขตทิเบต จึงทำให้มีระยะการเดินทางใกล้กว่าการเดินทางจากมณฑลอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีหลากหลายวิธีการเดินทางให้ได้เลือก บางคนเลือกขับรถเอง ระหว่างทางก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์หลายแห่ง หรือถ้าไม่อยากแวะเที่ยวก็ใช้ประมาณ 4 วัน หากต้องการนั่งรถไฟหรือเครื่องบิน ถ้าเดินทางจากกรุงปักกิ่ง จะมีรถไฟขบวน Z21 สนนราคาสำหรับที่นั่งแบบธรรมดาอยู่ที่ 360 หยวน ส่วนตู้นอนราคาอยู่ที่ 720 หยวน ใช้เวลาในการเดินทาง 40 ชั่วโมง 30 นาที ถึงแม้ต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน แต่ระหว่างทางก็สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงาม โดยจะผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เขอเข่อซีลี่ (可可西里) ภูเขาคุนหลุน (昆仑山) ยอดเขาวี่จูเฟิง (玉珠峰) ภูเขาถังกู่ลา (唐古拉山) และแม่น้ำถัวถัว (沱沱河) คนที่เคยนั่งรถไฟขบวนนี้ต่างบอกว่า ทุกแห่งที่ขบวนรถไฟนี้ผ่านต่างมีทิวทัศน์อันสวยงามเหมือนดินแดนสวรรค์ บางคนยังบอกว่า ความสวยของทิเบตไม่ได้อยู่ที่ลาซา แต่อยู่ที่ทิวทัศน์ระหว่างสองข้างทาง หากมีวันหยุดเพียงสั้น ๆ สามารถเลือกนั่งเครื่องบินได้ โดยการเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองลาซามีหลายเที่ยวบินให้เลือก สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000 หยวนไปจนถึง 3,500 หยวน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง

ยิ่งไปกว่านี้ ยังมีบางคนที่มีความกล้าหาญที่จะปั่นจักรยานไปพิชิตทิเบต ซึ่งถือเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลานานมากและมีความเสี่ยง ลำพังแค่การเดินทางจากเมืองเฉิงตูต้องการเวลากว่า 20 วันแล้ว หากจะเดินทางด้วยวิธีนี้ ต้องมีการเตรียมพร้อมก่อน โดยต้องออกกำลังกายให้มาก ๆ และฝึกเทคนิคการขี่จักรยานให้ดี เพราะแม้จะเป็นการขี่บนถนนทางหลวง แต่ก็มีทางขึ้นเขาลงเขาจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังต้องใช้จักรยานที่คุณภาพดี ทำความเร็วได้ค่อนมาก ใส่หมวก ถุงมือ และ แว่นตา เพื่อกันแดด กันลม นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักวิธีซ่อมจักรยานด้วย อย่างไรก็ตาม การขี่จักรยานไปทิเบตนั้นมีความอันตราย และอาจจะพบกับความลำบากชนิดที่คาดไม่ถึง เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์ปั่นจักรยานทางไกลไม่ควรเลือกเดินทางด้วยวิธีนี้เพื่อความปลอดภัย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040