นิตยสาร The Economist ของอังกฤษเคยสัมภาษณ์นักศึกษาหญิงจีนคนหนึ่งที่เรียนอยู่ที่เยอรมนีว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อคนเยอรมัน เธอคิดสักพักหนึ่งแล้วตอบว่า คนเยอรมันขี้เกียจมาก คำตอบนี้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกประหลาดใจมากเพราะในสายตาของคนตะวันตก คนเยอรมันถือว่าขยันมาก
เมื่อกล่าวถึงความขยันของคนจีน คนจีนส่วนใหญ่จะนึกถึงตอนเด็กๆ พ่อแม่ปู่ย่าตายายและผู้ใหญ่มักสอนว่า ต้องขยันเรียนหนังสือ ต้องก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง
ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าเกินความคาดคิดของชาวโลก ทั้งนี้เกิดจากการดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ ตลอดจนความขยันของคนจีน ความขยันของคนจีนทำให้ประเทศจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่ครอบครัว สังคมไปจนถึงประเทศ เหมือนการเล่นละคร หากมีแต่บทกับผู้กำกับ ไม่มีนักแสดงฝีมือดี ก็ยากที่จะดึงดูดผู้ชม
สื่อมวลชนต่างประเทศมักวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทจีนในต่างประเทศชอบจ้างคนงานจีนมากกว่าคนงานท้องถิ่น แต่ไม่ค่อยมีใครวิเคราะห์สาเหตุ เช่น ทำไมคนจีนยอมทำงานล่วงเวลา ทำไมคนจีนสามารถทำงานเสร็จภายในเวลาที่กำหนดและประกันคุณภาพของงานได้ คำตอบคือ ความอดทน ขยันและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้กลายเป็นนิสัยของคนจีนทั่วไป และถือเป็นศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญ
นายไมเคิล โมริซ ผู้ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัท Sequoia (ซีควอ-ย่า) Capital ของสหรัฐฯ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Financial Times โดยเรียกร้องให้บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ถือคนจีนเป็นแบบอย่าง เขากล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจีนทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หรือบางทีก็ 7 วัน ส่วนวิศวกรจะทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน นอกจากเทศกาลตรุษจีนกับวันชาติ ซึ่งมีวันหยุดยาวถึง 7 วัน ที่เหลืออย่างมากก็หยุดพักไม่กี่วัน
ความขยันไม่ใช่มีเฉพาะในกลุ่มคนจีนธรรมดาทั่วไปหรือวงการธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ขยันเกินคาด ผู้สื่อข่าวเคยเป็นล่ามให้กับคณะผู้แทนรัฐบาลจีนที่ไปเยือนต่างประเทศ กำหนดการเยือนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถูกจัดไว้แน่นเกือบทุกวัน มีการพบปะเจรจาตั้งแต่เช้ายันบ่าย ตอนเย็นนั่งเครื่องบินไปอีกเมืองหนึ่ง เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั่งวันเดินทางกลับประเทศจีน ผู้สื่อข่าวจึงอดไม่ได้ที่จะชื่นชมในใจว่า สาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแข็งแกร่งอย่างนี้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ขยันทำงาน
Bo/Min/Cai