หลังจากการตายของบิดา มารดาของเหลาเส่อต้องรับภาระครอบครัวโดยลำพัง โดยอาศัยการรับจ้างซักรีด เพื่อหาเงินมาจุนเจือและจ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษต่างๆ ให้กับเหลาเส่อ
"ในช่วงวัยเด็ก" เหลาเส่อรำลึก "ผมไม่ชอบฟังนิทานเกี่ยวกับปีศาจผู้หญิงที่ชอบกินเด็กๆ เลยเพราะว่าเรื่องราวของชาวต่างชาติที่แม่ของผมเล่าให้ฟังนั้นทั้งโหดร้ายและป่าเถื่อน มากกว่าเรื่องของปิศาจผู้หญิงที่มีปากขนาดใหญ่และเขี้ยวอันแหลมคม เพราะนิทานก็คือนิทานแต่ เรื่องที่แม่ของผมเล่าให้ฟังนั้นล้วนเป็นความจริงร้อยเปอร์เซนต์ และที่สำคัญ เพราะมันกระทบกับครอบครัวของเราโดยตรง"
ในปี 1913 เขาสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายของกรุงปักกิ่ง แต่ก็เรียนได้เพียงไม่กี่เดือน เพราะว่าปัญหาทางด้านการเงินของครอบครัว และในปีเดียวกันนั้น เขาก็ได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ที่เขาสำเร็จการศึกษาในปี 1918
ในด้านการสอนและการเขียนของเหลาเส่อนั้น เริ่มขึ้นระหว่างปี 1918 ถึงปี 1924 เขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ระดับประถมและมัธยมของโรงเรียนในกรุงปักกิ่งและนครเทียนสิน แนวคิดและการทำงานของเหลาเส่อได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ "การปฏิวัติปัญญาชน" หรือ เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ปี 1919 ที่นักศึกษาในกรุงปักกิ่งพากันเดินขบวนคัดค้านการประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศส กรณีที่ญี่ปุ่นบังคับให้รัฐบาลหยวนซื่อไข่ ลงนามรับรองคำขาด 21 ข้อ ซึ่งมีข้อหนึ่งที่จีนต้องยอมรับรองสิทธิเหนือดินแดนมณฑลซานตง