เหรียญกษาปณ์รูปมีด
ในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นระบุว่า อัครเสนาบดีผู้หนึ่ง ถึงกับมีโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ถึง 9 แห่ง นอกจากนี้จักรพรรดิฉจิ๋นสื่อฮวงตี้ยังทรงให้หล่อเหรียญสัมฤทธิ์และเหรียญทองแดงที่มีคำว่า "ฮั่นเสียง" ที่มีน้ำหนัก 12 ฉู หรือ ครึ่งออนซ์ขึ้นใช้ด้วย ซึ่งนับเป็นเหรียญที่มีน้ำหนักและคุณภาพดีมาก และใช้กันโดยแพร่หลายในยุคราชวงศ์ฮั่น
เงินโบราณของจีนยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ไม่แพร่หลายนัก เพราะมีราคาแพง และนิยมใช้ซื้อเฉพาะสิ่งที่มีราคาค่างวดสูงๆ เท่านั้น ซึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็น่าที่จะกล่าวถึงสักเล็กน้อย เพราะถือได้ว่าเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของเส้นทางเงินตราโบราณของจีน
เงินดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า "หยวนเป่า" ซึ่งคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋วรู้จักกันในชื่อ "ง้วนป้อ" หรือที่ผู้ชมภาพยนตร์กังฟู และคอนิยายกำลังภายในรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ "เงินตำลึง"
เงินชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายเรือ ปลายสองข้างแหลมเชิดขึ้นลำเรือมีลักษณะนูนขึ้นมา ซึ่งได้พัฒนามาจากของแต่ดั้งเดิมที่แบนๆ เพราะคนทั่วไปเห็นว่ามีลักษณะคล้ายโลงศพมากกว่าลำเรือ ด้านข้างของเงินชนิดนี้จะมีการสลักลวดลาย และตัวอักษรมงคลตามความเชื่อของจีนไว้ด้วย
ซึ่งตามบันทึกแล้วเงินชนิดนี้เริ่มใช้กันในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเป็นเงินที่มีค่าสูงมากกว่าเงินชนิดอื่นๆ นิยมใช้ในการจับจ่ายสินค้าราคาสูงๆ เช่นการซื้อม้า
ในสมัยราชวงศ์ถัง เรียกเงินรูปเรือนี้ว่า "อิ๋นถิ่ง" ต่อมา เมื่อมองโกลสามารถรวบรวมทุกถิ่นแคว้นเขาด้วยกันเป็นผลสำเร็จ ก็ได้พยายามวางโครงสร้างการปกครองใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการกำหนดเรื่องเงินตราด้วย และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของตน จึงเปลี่ยนการเรียกเงินที่มีค่าสูงสุดนี้ จาก "อิ๋นถิ่ง" มาเป็น "หยวนเป่า" ให้ตรงกับชื่อราชวงศ์ของตน และมีความหมายว่า "ของวิเศษแห่งราชวงศ์หยวน" ซึ่งในยุคนี้ "หยวนเป่า" ยังทำจากเงินแท้อยู่ แต่ยังมีลักษณะเหมือนโลงศพอยู่นั่นเอง พอสิ้นราชวงศ์หยวนแล้ว จึงมีการทำให้ตรงกลางนูนขึ้นมา และมีการเคลือบผิวให้เป็นสีทองอร่าม เพื่อเพิ่มคุณค่า ตามความเชื่อของจีนอีกด้วย
แต่อีกนัยหนึ่งที่มีคนกล่าวหาว่าเงิน "หยวนเป่า" มีหน้าตาคล้ายโลงศพนั้น ผมสันนิษฐานว่า เป็นความคับแค้นของชาวฮั่นที่ถูกปกครองด้วยชาวมองโกล พอหมดอำนาจก็เลยเกิดการเปรียบเปรยในทางไม่ดี แล้วก็ดัดแปลงเงินเสียใหม่ เพื่อไม่อยากให้เกิดการจดจำ เพียงแต่ว่ารางวงศ์ที่มาปกครองต่อ ไม่มีพลังเพียงพอ จึงไม่สามารถเปลี่ยนชื่อเรียกที่คนคุ้นเคยมาหลายร้อยปีได้
เหรียญกษาปณ์แบบกลมเจาะรูสี่เหลี่ยมและเงินตำลึงก็ใช้มายาวนานจวบจนถึงยุคปลายราชวงศ์สุดท้ายของจีน จนกระทั่งเมื่อราวช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงเกิดเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้น