China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-12-27 15:50:24    
ร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน (18)

cri
สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่รัก อรพิน หยาง และรายการ ร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน มาทักทายกับท่านผู้ฟัง ณ สถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทย ดังเช่นเคย เมื่อวานดิฉันอารัมภบทประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งเรียบเรียงโดยคุณถวิล จำปานิล จากจังหวัดลำพูน ไปแล้ว วันนี้เรามาฟังเรื่องราวต่อไปกันนะคะ

"ผลจากการติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับจีน นอกจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการค้าแล้ว ยังทำให้จีนบางส่วนอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในราชอาณาจักรไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา เศรษฐกิจไทยทางอ้อม รวมทั้งยังให้วัฒนธรรมจีนเผยแพร่มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์มากขึ้นด้วย

ความสัมพันธ์ไทยจีนได้เริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 โดยพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เดินทางไปเยือนจีน และได้เข้าพบท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-จีน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีแถลงการร่วมว่าด้วยแผนงานความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

นับตั้งแต่ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1975 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างราบรื่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การทหาร การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งด้านอื่น ๆ บนพื้นฐานของความเป็นมิตรภาพ ความเสมอภาค การเอื้อประโยชน์ และการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผู้นำระดับสูงสุด ผู้นำรัฐบาล และประชาชนทั้งสองประเทศได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญต่อการสืบสาน และพัฒนาความสัมพันธ์โดยไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว และสมานฉันท์ระหว่างประเทศที่มีระบอบสังคมที่แตกต่างกัน ความร่วมมืออันดีระหว่างสองฝ่าย ไม่เพียงแต่จะเกื้อกูลต่อผลประโยชน์ โดยพื้นฐานของประเทศทั้งสองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสันติภาพ และการพัฒนาของเอเชีย และของโลกด้วย

ในขณะที่ศตวรรษที่ 21 กำลังใกล้จะมาถึงนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ควรจะขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือโดยรอบด้าน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ให้ก้าวหน้าต่อไป บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และความสัมพันธ์ฉันมิตรที่พัฒนามากว่า 20 ปี เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน พัฒนาไปสู่ระดับใหม่ ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงออกแถลงการณ์ เพื่อให้เป็นกรอบ และแนวทางสำหรับการดำเนินการปฏิบัติตามของทั้งสองฝ่าย ดังนี้

1. ทั้งสองฝ่ายยึดถือหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ หลักการ 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นที่ยอมรับในสากล เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

2. ทั้งสองฝ่ายจะรักษาไว้ซึ่งการติดต่อ และการไปมาหาสู่ที่ใกล้ชิด ระหว่างผู้นำของประเทศทั้งสอง ส่งเสริมการติดต่อ แลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอระหว่างข้าราชการทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการระดับสูงของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน พัฒนาไปโดยรอบด้าน อย่างมั่นคงและยั่งยืน

3. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาไว้ซึ่งกลไกการปรึกษาหารือประจำปี ระหว่างข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศทั้งสอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน ในประเด็นทางการเมือง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดยจะติดตามดำเนินการตามแผนงานนี้ ในระดับนโยบาย และหน่วยงานทางการทูตของทั้งสองประเทศ จะใช้โอกาสต่าง ๆ อย่างเต็มที่ในการติดต่อและหารือกันอย่างสม่ำเสมอ

4. ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยอาศัยมาตรการเพื่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานศึกษาวิจัยด้านยุทธศาสตร์ และความมั่นคง ส่งเสริมให้ฝ่ายทหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ มีการปรึกษาหารือกันมากขึ้นในกิจการด้านความมั่นคง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายในการช่วยเหลือกู้ภัยเพื่อนมนุษย์ และการลดโอกาสของภัยพิบัติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการทหาร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านต่าง ๆ

ภายหลังจากการที่ ไทย-จีน ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 แล้ว ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างประเทศของผู้นำทั้งสองประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางด้านศาสนา เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 สมเด็จพระสังฆราชของไทย ได้เสด็จเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการโดยทรงมุ่งกิจการทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการนำ พระกรณียกิจนี้มาแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์รวม (ทีวีพูล) ของไทยโดยตลอด อันถือได้ว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันก็ได้มีพระจีนมาศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ประเทศไทยอีกด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้ให้ความชัดเจนเพิ่มเติมของความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับจีนไว้ว่า ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทย กับประเทศจีนในสมัยโบราณ มิได้มีอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ที่เป็นทางการปรากฏชัดในรัชกาลปัจจุบัน นั่นคือ เมื่อปีพ.ศ.2538 ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (ข้อนิ้วพระหัตถ์) มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย โดยจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ข้อนิ้วพระหัตถ์ จากวัดป่าเหมินซื่อ มณฑลส่านซี มาประดิษฐานในไทย เฉพาะระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 รวมระยะเวลา 85 วัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ต่อมาได้มีเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ.2545 กล่าวคือรัฐบาลไทยในสมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง (วัดม้าขาว) กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ พุทธมณฑลเป็นระยะเวลานานถึง 76 วัน ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ทั้งนี้ปรารภเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิ-พลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา

2. เพื่อประสานสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

3. เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สักการะบูชาพระเขี้ยวแก้ว ทั้งนี้ด้วยปรารถนาว่า อานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ แห่งองค์พระเขี้ยวแก้วนี้ จะได้แผ่พระบารมีอันไพศาล ให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้เจริญรุ่งเรือง และมีความสุขตลอดไป

ข้าพเจ้าเองได้ชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ด้วยความชื่นชม และมีปีติอิ่มใจตลอดเวลา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2545 มีพิธีการส่งมอบพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนให้แก่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ ที่อาคารรับรอง สนามบินดอนเมือง ของกองทัพอากาศ ฝ่ายไทยนั้น มีดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบ ส่วนฝ่ายจีน มีรัฐมนตรีว่าการทบวงกิจการศาสนาของจีนเป็นประธาน ซึ่งมีการกล่าวสุนทรพจน์แบบกล่าวสด ๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่ายเป็นที่ซาบซึ้งมาก ได้ทราบว่า แม้มีหลายประเทศมาขอร้องให้นำพระเขี้ยวแก้วไปสักการะบูชา แม้เป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่เคยอนุญาตให้ประเทศใดเลย"

ท่านผู้ฟังค่ะ เรียงความความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาเนิ่นนานของคุณถวิลยังมีต่ออีกนะคะ แต่เนื่องจากเวลาวันนี้หมดแล้ว สัปดาห์หน้า ขอเชิญท่านผู้ฟังติดตามบทเรียงความนี้ต่อในตอนจบค่ะ รายการในสัปดาห์นี้ขอยุติลงเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าเวลาเดียวกันนี้ สวัสดีค่ะ