สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ครั้งก่อนเราไปคุยกับศาสราจารย์เจี่ยแยนจอง แห่งสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา เมืองคุนหมิง เรื่องความเป็นมาของอาณาจักรสิบสองปันนา หรืออาณาจักเชียงรุ่งกันแล้ว วันนี้เราจะมาคุยกับอาจารย์เรื่องเกี่ยวกับชนชาติไตหรือไทที่อยู่ในสิบสอบปันนากันบ้างค่ะ
สิบสองปันนาอยู่ที่ชายแดนทางภาคใต้ของมณฑลยูนนาน ช่วงกลางของแม่น้ำโขงซึ่งมีต้นน้ำไหลมาจากทิเบต แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านสิบสองปันนามีความยาว 158 กิโลเมตร ชาวไทลื้อในสิบสองปันนามีอยู่ประมาณ 270,000 คน
จากการวิจัยของอาจารย์เจี่ยแยนจอง ภาษาไทลื้อจัดอยู่ในจำพวกไทน้อยกลุ่มเดียวกับภาษาไทล้านนา สังเกตได้จากการออกเสียง ท เป็น ต พ เป็น ป ร เป็น ฮ ภาษาเขียนที่เรียกว่าอักษรไทลื้อก็เป็นอักษรเดียวกับอักษรล้านนาที่แพร่เข้าไปพร้อมกับพุทธศาสนา มีคำบาลีสันสกฤตน้อยมาก ราชาศัพท์ก็ใช้ง่าย ๆ ยังรักษาลักษณะดั้งเดิมไว้ได้มาก จึงมีประโยชน์ในการอ้างอิงเมื่อต้องการค้นคว้าภาษาไทเดิม
อาจารย์เจี่ยบอกว่า ภาษาพูดของชาวไทลื้อคล้ายกับภาษาปักษ์ใต้ของไทย คนไทยปักษ์ใต้สามารถฟังภาษาไทลื้อได้รู้เรื่อง
(เสียง 4) " ผมเองก็ศึกษาและเคยอยู่ที่สิบสองปันนามาสิบกว่าปี ได้ศึกษาคำพูดของสิบสองปันนา ปรากฏว่ามีคำเก่า ๆ ไม่ว่าเป็นคำว่าเชียง เป็นแว่นเวียง เป็นระบบพ่อบ้าน ล้วนรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนตั้งแต่ 1500-2000 ปี เป็นอาณาจักรเก่าที่มีคุณค่าในการศึกษาวัฒนธรรมทางไทเดิม"
ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อคล้ายคลึงกับคนเมืองเหนือและคนอีสานของไทย กินข้าวเหนียวเป็นประจำ ชอบรับประทานอาหารเผ็ดและเปรี้ยว กินผักจิ้มน้ำพริก ชาวลื้อเรียกน้ำพริกว่ารำ เช่นน้ำพริกปู น้ำพริกหน่อไม้ น้ำพริกผัก น้ำพริกมะเบือเทศ น้ำพริกปลา กินของดองส้ม เช่นหน่อส้ม ปลาส้ม หนังวัวส้ม อาหารชนิดลาบ ชาวไทลื้อเรียกว่าส่า มีส่าชิ้นวัว ส่าชิ้นหมู ส่าปลา ส่ากุ้ง จำพวกแกงก็มีแกงหัวปลาต้มสมป่อย แกงเลียง.. ฟังแล้วคุ้นลิ้นคนไทยเราทั้งนั้นเลยนะคะ นี่แหละคนไทอยู่คนละประเทศก็เป็นคนไทเหมือนกันแหละค่ะ (ดนตรี)
ชาวไทยลื้อนับถือศาสนาพุทธหินยาน นิกายลังกาวงศ์ วัดเป็นศูนย์กลางของประชาชน ทุกหมู่บ้านจะมีวัดประจำหมู่บ้าน ๆ ละ 1 วัด ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม พิธีบวชพระ บวชเณร ในระดับเมืองจะมีวัดหลายวัด มีวัดหนึ่งเป็นวัดหลวง
คนไทลื้อเรียกการทำบุญว่า ทาน แต่ออกเสียงว่า ตาน แต่ละปีจะมีการทำบุญใหญ่ ๆ เช่น ทำบุญวันสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำบุญเข้าพรรษา ทำบุญออกพรรษา แต่ที่แปลกก็คือคนไทลื้อไม่มีวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา
นักวิชาการเชื่อว่าพุทธศานาแพร่เข้าไปในสิบสองปันนาเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน แพร่จากล้านนา ผ่านเชียงตุงเข้าไป แพร่เข้าไปพร้อมกับอักษรล้านนา ซึ่งชาวไทลื้อใช้ในการจารพระคัมภีร์ใบลาน วรรณกรรมพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิทานชาดกจึงเป็นเนื้อหาหลักของวรรณกรรมชนชาติไทลื้อไปด้วย กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาก่อบทบาทต่อวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อตลอดมา
แต่พุทธศาสนาที่แพร่เข้าไปก็ไม่ได้ไปลบล้างความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของชาวไทลื้อ ชาวไทลื้อยังมิได้ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการไหว้ผี การบวงสรวงเสื้อบ้านเสื้อเมือง การบูชาผีเรือนผีตระกูล การบูชาเจ้าแม่โพสพ ที่สำคัญคือความเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งเป็นความเชื่อแต่โบราณของคนไททุกสาขา ชาวไทลื้อทำพิธีสู่ขวัญ เชิญขวัญ เรียกขวัญ ผูกขวัญ เหมือนกับที่ไทยภาคอีสานเรียกว่าพิธีบายศรี และที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเชื่อเหล่านี้ถูกนำไปผสมผสานกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่น มีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปร่วมสวดมนต์ในพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย
ท่านผู้ฟังรู้สึกสนุกที่จะไปเที่ยวสิบสองปันนาหรือยังค่ะ ไปรู้จักกับพี่น้องคนไทที่มีบรรพบุรุษเดียวกัน ไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของเขา แล้วจะพบว่ามีอะไรที่คาดคิดไม่ถึงมากกว่าที่ดิฉันเล่ามานี้อีกค่ะ วันนี้เวลาก็หมดลงอีกแล้ว ดิฉันขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ
|