China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2008-03-12 14:54:40    
ขนมจีบร้านตูอีชู่ของปักกิ่ง

cri

สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับรายการสัมผัสชีวิตจีนอีกครั้ง รายการวันนี้จะพาท่านผู้ฟังไปชิมขนมจีบของร้านตูอีชู่ของปักกิ่งนะครับ เมื่อพูดถึงขนมจีบแล้ว คนไทยเราจะคุ้ั้นเคยมากทีเดียว ขนมจีบของเรามีทั้งไส้หมู ไส้กุ้ง ไส้ไก่และไส้เจเป็นต้น แต่วันนี้รายการของเราจะพาท่านผู้ฟังไปสัมผัสขนมจีบของร้านตูอีชู่ของปักกิ่งครับ

ขนมจีบในภาษาจีนมีหลายชื่อเป็นต้นว่าเซามั่ย เซาเหมย ซาเม่าและโซ่มั่ย เป็นขนมที่นิยมรับประทานกันทั้งชาวใต้และชาวเหนือของจีน ขนมจีบในจีนมีรสชาติหลากหลาย มีทั้งรสเค็มและหวาน ขนมจีบของจีนเริ่มมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนโดยบันทึกไว้ว่า ขนมจีบนั้นใช้ข้าวสารนวดเป็นแป้ง ใช้หมูเป็นไส้ ที่ยอดขนมจีบให้ทำเป็นรูปดอกไม้ จากบันทึก เราทราบกันว่าขนมจีบของจีนมีประวัติยาวนานกว่า 700 ปีแล้ว

ในประเทศจีนมีร้านขายขนมจีบมากมายจนนับไม่ถ้วน วันนี้รายการของเราจะนำเสนอร้านขายขนมจีบที่มีชื่อเสียงที่สุดของปักกิ่งชื่อว่าร้านตูอีชู่

ผู้ก่อตั้งร้านอาหารตูอีชู่เป็นคนซันซี ตอนแรก ๆ ที่อพยพมายังปักกิ่ง เขาไปฝึกงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นคนขยันหมั่นเพียร ฝีมือทำอาหารของเขาดีขึ้นในเวลาไม่นาน จากนั้นเขาลาออกจากร้านอาหารแห่งนั้นและมาเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่งขึ้นเอง อาหารที่ขายนั้นส่วนใหญ่เป็นขนมต่าง ๆ เช่นขนมจีบ ซาลาเปาเนื้อวัวเป็นต้น ร้านอาหารของชาวซันซีคนนี้แม้แต่ชื่อร้านที่เป็นทางการก็ยังไม่มี เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เขาได้ดำเนินกิจการร้านอาหารมากว่า 10 ปีแล้ว แต่กิจการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร คิดไปคิดมาจึงเข้าใจว่า แม้ว่าร้านอาหารของเขาจะตั้งอยู่ในสถานที่ที่เจริญมาก แต่แถวนี้มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมากมาย ร้านเล็ก ๆ ของเขาจะไปแข่งกับร้านหรูหราได้อย่างไร แต่เขาก็ไม่ท้อถอย ทุกเช้า ร้านของเขาจะเปิดก่อนร้านอื่น จะปิดเป็นร้านสุดท้ายในตอนกลางคืนและต้อนรับลูกค้าด้วยความจริงใจ

ในวันสุกดิบของเทศกาลตรุษจีนในปีที่ 3 รัชสมัยเฉียนหลงราชวงศ์ชิง วันนั้นดึกมากแล้ว เจ้าของร้านชาวซันซีคนนั้นกำลังจะปิดร้าน มีลูกค้า 3 คนเดินเข้ามาในร้าน ดูท่าทางแล้ว 1 คนเป็นเจ้านาย อีก 2 คนเป็นผู้ติดตาม เจ้านายคนนั้นอายุประมาณ 30 แต่งตัวเรียบร้อยและมีบุคลิกที่สง่างาม เจ้าของร้านชาวซันซีจึงบริการลูกค้าอย่างระมัดระวัง เมื่อเจ้านายคนนี้รับประทานข้าวเสร็จแล้วก็ถามว่าร้านนี้ชื่ออะไร เจ้าของร้านตอบว่าร้านของตนเป็นร้านเล็ก ๆ จึงไม่ได้ตั้งชื่อ เจ้านายคนนั้นมองสภาพร้านแล้วกล่าวว่า ที่กรุงปักกิ่งก็มีร้านอาหารของเจ้าร้านเดียวที่ดึกมากแล้วยังเปืดอยู่ เรียกว่าร้านตูอีชู่แล้วกัน ท่านผู้ฟังครับ ตูหมายความว่ากรุง อีหมายความว่าหนึ่งเดียว ส่วนชู่แปลว่าแห่ง รวมความแล้วหมายความว่าร้านแห่งเดียวในกรุงปักกิ่ง เมื่อกล่าวเสร็จแล้วทั้ง 3 คนนั้นก็เดินออกจากร้านไป

ตอนแรก ๆ เจ้าของร้านคนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องในคืนนั้น แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน มีขันทีกว่า 10 คนเข้ามาในร้านและได้มอบป้ายคำขวัญแก่เจ้าของร้าน ป้ายนั้นเขียนไว้ว่าตูอีชู่ เจ้าของร้านคนนั้นจึงเข้าใจทันทีว่า เจ้านายที่มารับประทานข้าวในตอนดึกนั้นคือจักรพรรดิเฉียนหลงนั่นเอง

เหตุการณ์นี้เป็นที่เล่าขานไปทั่วกรุงปักกิ่ง ผู้คนต่างเข้ามาชมป้ายคำขวัญที่จักรพรรดิทรงมอบให้ร้านอาหาร ธุรกิจของร้านอาหารตูอีชู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของร้านตูอีชู่ยังคลุมผ้าเหลืองซึ่งเป็นสีประจำจักรพรรดิให้กับเก้าอี้ที่พระองค์เคยประทับ

จากนั้นมา ขนมจีบซึ่งเป็นอาหารหลักของร้านตูอีชู่ก็มีชื่อเสียงโ่ด่งดังขึ้น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เมื่อชาวปักกิ่งคิดจะรับประทานขนมจีบ ก็จะนึกร้านอาหารตูอีชู่ขึ้นมา ขนมจีบของร้านตูอีชู่มีทั้งไส้หมู ไส้ปูและไส้เจด้วยนับว่ามีหลากหลายให้กับลูกค้าเลือกชิม ท่านผู้ฟังมาเที่ยวปักกิ่งเมื่อไหร่เชิญชิมขนมจีบของร้านตูอีชู่นะครับ มาชิมว่าขนมจีบที่เคยสร้างความประทับใจแก่จักรพรรดิเฉียนหลงนั้นมีรสชาติอร่อยเพียงไร สำหรับรายการวันนี้ หมดเวลาลงเพียงเท่านี้ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าในรายการสัมผัสชีวิตจีนอีกครั้ง สวัสดีครับ