China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2008-11-14 18:48:24    
เดินดูสิงห์ 485 ตัว และเลาะรั้วประวัติศาสตร์ของสะพานมาร์โคโปโล
สถานีต่อไป 8

cri

สวัสดีครับท่านผู้ฟัง หลังจากที่ผมได้พาท่านนั่งรถไฟใต้ดินไปเที่ยวสถานที่ฮิปๆ มาหลายแห่งแล้ว รายการวันนี้ผมจะพาท่านไปชมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเลยเสียมิได้ สำหรับการท่องเที่ยวในกรุงปักกิ่ง เพราะเมืองหลวงแห่งนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนานหลายพันปี มีสถานที่มากมายที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เต็มไปด้วยสีสัน เต็มไปด้วยความสุขและความทรงจำ

สัปดาห์นี้ผมไม่ได้นั่งรถใต้ดินครับ เพราะสถานที่เป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้อยู่ไกลออกไปนอกเมืองมาก ตามข้อมูลบอกว่ามีรถเมล์สาย 303 และ 309 ที่ตรงดิ่งไปถึงสถานที่แห่งนี้เลย

แต่ผมเลือกเดินทางด้วยรถจักรยานส่วนตัวที่เพิ่งถอยออกมาใหม่หมาด เพื่อความสะดวกในการสืบเสาะเลาะลัดเส้นทางรอบๆ สถานที่สำคัญต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของรถไฟใต้ดิน และเป็นการออกกำลังกายไปในตัว เพื่อเตรียมร่างกายรับอากาศหนาวที่กำลังคืบคลานเข้ามาด้วย

บ่ายวันเสาร์ที่ดวงอาทิตย์หลบอยู่หลังเงาเมฆ และอุณหภูมิที่ต้องสวมเสื้อกันหนาวตัวใหญ่ ผมมุ่งหน้าไปตามเส้นทางทิศตะวันตก ตามคำบอกเล่าของเพื่อนพนักงานที่ซีอาร์ไอ ว่าให้ไปยังถนนวงแหวนที่ 5 จากนั้นให้วนไปตามถนนในทางทิศใต้ ไม่ไกลนักก็จะมีป้ายทางออกไปยังสะพานมาร์โคโปโลซึ่งระยะทางรวมประมาณสัก 10 กิโลเมตรเห็นจะได้

ด้วยความสัตย์ซื่อ ผมก็มุ่งหน้าไปจนถึงถนนดังกล่าว และอาศัยถามชาวบ้านระหว่างทางไปเรื่อย เพราะทุกแผนที่ที่ผมมีอยู่เกือบ 10 แผ่น สุดขอบเพียงแค่สถานีผิงกั่วหยวน ใต้สุดก็เห็นเพียงถนนวงแหวนที่ 4 ที่เหลือผมจึงต้องอาศัยถามเส้นทางเอา

พอมาถึงวงแหวนที่ 5 ตามที่ตั้งใจ กลับกลายเป็นว่า เขาอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์เท่านั้นใช้งาน แรงใจที่เคยเต็มเปี่ยม เลือดที่เคยฉีดพุ่งทั่วร่าง ลดวูบลงมาทันที ขาอ่อนจนแทบทรุด ก็ปั่นมาตั้งเป็นชั่วโมง แต่จนหนทางจะไปต่อ เพื่อนคนนั้น คงบอกเส้นทางตามความเคยชินของเธอ เพราะเธอมีรถยนต์ขับ ทั้งที่ผมเองก็บอกแล้วว่าจะปั่นจักรยานไป...เฮ้อ

จะมามัวแต่โทษเพื่อนตอนนี้ก็คงไม่ได้ เพราะเสียเวลามามาก ผมจึงไปถามเส้นทางทั้งจากคนขายแตงข้างทาง เด็กปั๊ม เจ้าของร้านรับล้างรถ เด็กที่ขี่จักรยานสวนกัน ลุงแก่ๆ ที่ขี่จักรยานบนเส้นทางเดียวกับที่ผมผ่าน ด้วยภาษาจีนอันอัตคัดและพิกลพิการ ผมก็คลำทางลุยฝุ่น ตากลมหนาว ผ่านเส้นทางที่แสนเงียบเหงาต่อไป

ระหว่างทางผมจะถอดใจหลายครั้งหลายครา เพราะเส้นทางที่ผมปั่นไปนั้น นานๆ จะมีรถผ่านสักคัน ฝุ่นเกาะคลุมทุกใบไม้ บางต้นเหลือแต่เพียงกิ่งเพราะอากาศหนาวมาเยือนแล้ว บ้านที่อยู่รายทางก็สร้างจากอิฐเก่า บางหลังก็ประกอบจากเศษไม้และซากรถโบราณ มีฝูงแกะถูกต้อนข้ามถนน ราวกับไม่ได้อยู่ในเขตปักกิ่ง อีกทั้งไม่สามารถจับทิศได้ว่ากำลังมุ่งหน้าไปที่ใด มีแต่รอยยิ้มและนิ้วที่ชี้ไปตามเส้นทางของชาวบ้านที่สร้างความมั่นใจให้กับผมในการมุ่งหน้าต่อไป จนในที่สุดก็มาโผล่ที่ด้านหลังของสะพานมาร์โคโปโลอย่างไม่รู้ตัว

การเดินทางเช่นนี้ เป็นการเดิมพันที่ผมเคยชินมาทั้งชีวิต ผมเชื่อว่า แม้เราไม่รู้อะไรเลย และระหว่างทางอาจจะมีความท้อแท้รุมเร้า แต่สุดท้ายผมก็จะพบกับอะไรบางอย่างที่เป็นจุดเชื่อมต่อให้เราเดินหน้าท้าทายชีวิตต่อไปได้

สะพานมาร์โคโปโล หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า หลูโกวเฉียว (Lugouqiao) เป็นที่รู้จักของชาวโลก เพราะเมื่อมาร์โคโปโลได้เดินทางผ่านสะพานแห่งนี้ได้เขียนบรรยายไว้ว่า "Over this river there is a very fine stone bridge, so fine indeed, that it has very few equals in the world." แปลเป็นไทยในสำนวนของผมว่า "สะพานหินข้ามแม่น้ำแห่งนี้ สวยงามยิ่งนัก หาที่ใดในโลกเทียบเท่าได้ยาก" นับตั้งนั้นมาผู้คนจึงเรียกสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานมาร์โคโปโล" เป็นเป็นเกียรติแก่นักเดินทางผู้เปิดโลกให้กว้างอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

และเหตุการณ์สำคัญในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติจีน ก็ทำให้ผู้คนจดจำสะพานแห่งนี้ได้ยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นปราการสุดท้ายก่อนที่กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นจะตีกองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีน หรือก๊กมิ่นตั๋งแตก และเข้ายึดปักกิ่ง

ทุกวันนี้บนกำแพงเมืองบริเวณประตูหว่านผิง (Wanping) ยังมีรูที่เกิดจากอานุภาพของปืนใหญ่ของกองทัพจรรดิญี่ปุ่นอยู่เลย ทางการคงอนุรักษ์ไว้เป็นเครื่องเตือนสติอนุชนรุ่นหลัง

ห่วงเวลานั้นชาวจีนยังไม่มีอาวุธที่ทันสมัย ด้วยเพราะการลดทอนอำนาจจากจักรวรรดินิยมยุโรปและอเมริกา การแพร่ขยายของฝิ่น ทั้งการแตกกันเป็นหลายฝักฝ่าย แม้กองกำลังของก๊กมิ๋นตั๋งจะต่อสู้ป้องกันอย่างสุดกำลัง ประเทศที่มีปริมณฑลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างจีนยังถูกยึดได้

นึกถึงประเทศไทยที่แตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ในทุกวันนี้ ทั้งยังมีรอยร้าวลึกแผลยังไม่เปิดอีกมากมาย แม้ยุคล่าอาณานิคมแบบใช้กำลังขู่บังคับจะหมดลงแล้ว แต่การยึดอำนาจในรูปแบบอื่น ที่หยั่งรากลึกมากว่าการยึดผืนดิน ซึ่งคือการแทรกซึมเข้าไปในหัวใจของผู้คนนั้นน่ากลัวกว่ายิ่งนัก ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะเยียวยาได้

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชม บริเวณด้านหน้าของประตูหว่านผิง สองฝั่งถนนก่อสร้างด้วยอาคารแบบจีนโบราณ มีร้านค้าต่างๆ มากมายเปิดรอนักท่องเที่ยว มีอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เปิดแสดงความเป็นมาของประตูเมือง สะพาน และการต่อสู้อันเด็ดเดี่ยวของบรรพชน

สะพานมาร์โคโปโล เดิมมีชื่อว่า "สะพานกว่างลี่" (Guangli) ซึ่งทอดตัวข้ามแม่น้ำย่งติ้ง (Yongding) ซึ่งเป็นชื่อที่จักรพรรดิกังสีตั้งให้ เพราะเชื่อว่าเป็นมงคลมากกว่าชื่อเก่าคือ อู๋ติ้ง (Wuding) ซึ่งมาจากความเชี่ยวกรากของแม่น้ำนั่นเอง แต่ชาวจีนนิยมเรียกกันว่า "สะพานหลูโกว" (Lugouqiao) เพราะมีบันทึกโบราณเรียกว่า "แม่น้ำลู่กั่วสายนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "แม่น้ำเฮ่ยช๋วย" (Heishui) ซึ่งแปลว่าแม่น้ำสีดำ" และคำว่า "หลู" (lu) หรือ ต้นกกในภาษาจีน ซึ่งมีมากจนทำให้น้ำเป็นสีดำ จึงเรียกชื่อแม่น้ำนี้ว่า "แม่น้ำหลูโกว"

ฉะนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมชื่อทางการในปัจจุบันจึงเรียกชื่อสะพานว่า "หลูโกวเฉียว" แต่เรียกชื่อแม่น้ำว่า "ย่งติ้ง" นะครับ

แต่ก่อนนั้นแม่น้ำสายนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่อันตรายมาก เพราะมีความเชี่ยวกรากมาก แต่ทุกวันนี้เราไม่สามารถเห็นภาพนั้นได้เลย เพราะตั้งแต่ปี 1949 มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเหนือสะพานขึ้นไป เราจึงเห็นแค่เพียงต้นไม้ใบหญ้าที่ขึ้นเต็มแม่น้ำโบราณ

น้ำที่เห็นรายรอบสะพานอยู่ทุกวันนี้เป็นน้ำที่ปล่อยเข้ามาเพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวเท่านั้นครับ

นอกจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาหลากหลายที่สร้างความจดจำให้กับผู้คน แต่สิ่งสำคัญอีกอย่งหนึ่งที่ประทับใจผู้ที่ได้มาเห็นสะพานแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และยืนนานจากอดีตมาจวบจนปัจจุบัน

สะพานมาร์โคโปโล สร้างขึ้นบนฐานก่ออิฐโค้งจำนวน 11 โค้ง ราวสะพานทั้งสองข้างทำด้วยหินอ่อน บนราวสะพานประดับด้วยปูนปั้นรูปสิงห์จำนวน 485 ตัว ตลอดความยาว 235 เมตรของสะพาน ที่สำคัญสิงห์แต่ละตัว ไม่มีตัวไหนที่มีลักษณะเหมือนกันเลย แต่ละตัวมีกิริยาที่ต่างกันออกไป บางตัวสง่าผ่าเผย บางตัวก็น่ารัก บางตัวก็มีลูกเล็กเกาะอยู่ด้วย และบริเวณหัวและท้ายของสะพานมีช้างและสิงห์ตัวใหญ่อีกฝั่งละ 2 ตัวใช้ไหล่ค้ำราวสะพานไว้ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อของช่างโบราณที่เลือกสัตว์ที่แข็งแกร่งและอายุยืนทั้งสองให้เป็นผู้เฝ้าสะพาน

นอกจากนี้ที่หัวและท้ายสะพานอีกเช่นกันมีแผ่นศิลาจารึกขนาดใหญ่ ซึ่งแผ่นหนึ่งระบุครั้งที่ปฏิสังขรณ์ และอีกแผ่นหนึ่งเป็นข้อความที่เขียนขึ้นโดยจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง

บริเวณลานจุดที่เชื่อมต่อกับสะพานและประตูเมืองหว่านผิง เป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านน้ำชาสำหรับนั่งพักผ่อน มีปืนใหญ่โบราณจัดแสดงไว้รอบลาน และส่วนที่เป็นสนามหญ้ารอบนอกก็มีงานประติมากรรมสำริดที่แสดงวิถีชีวิต ชนชาติ และการแรงงาน ซึ่งเป็นแนวศิลปะที่รับใช้ประชาชน ซึ่งเคยเป็นที่นิยมของศิลปินจีนในยุคหนึ่ง

ที่นี่อัตราค่าเข้าชมก็มาตรฐาน 20 หยวน ไม่แพงเกินไปนัก ส่วนชาวบ้านที่อยู่โดยรอบสามารถเข้ามาเดินเล่น มาออกกำลังกาย มาขี่จักรยาน มาตกปลาได้โดยไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูแต่อย่างใด ผมเองก็ไม่รู้ว่าพนักงานจำหน่ายบัตรแยกแยะออกได้ยังไงว่าใครเป็นชาวบ้าน ใครเป็นนักท่องเที่ยว แต่ตอนเข้ามาผมเองเป็นคนเดียวที่ถูกเรียกใครจ่ายค่าผ่านประตู ส่วนคนอื่นเดินกันฉลุย ทำให้ผมทั้งฉงน และทึ่งในความสามารถของพนักงานที่นี่มากเลยครับ

วันนั้นผมมีเวลาชื่นชมกับความงามของสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ไม่นาน เพราะเสียเวลาในการเดินทางขามามาก พอแสงเริ่มลาฟ้าผมก็จำเป็นต้องลาไปด้วยเช่นกัน เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ผมจะไม่สามารถคลำทางกลับได้ และระยะทางก็ไม่ใช่น้อย อากาศที่เริ่มบาดแก้มบาดหูก็เตือนว่าไม่ควรจะอาลัยอาวรณ์มาก แต่ใจผจญภัยของผมก็ยังไม่เลิกที่จะอยากล้อเล่นกับเส้นทางอีก ผมจึงตัดสินใจลองกลับอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งน่าจะสบายกว่าเพราะว่าเป็นทางลาดยาง

และเพื่อความแน่ใจผมจึงแวะถ้าแผงขายผ้าพันคอริมถนนว่า "ปาเป่าชาน" ไปทางไหน อาเฮียทำท่าคิดอยู่นาน สุดท้ายก็พูดซึ่งน่าจะมีความหมายว่าไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย ผมกล่าวขอบคุณ ถอยออกมาอยู่ด้านหน้าลานจอดรถทัวร์ ถามพี่อีกคนที่อุ้มลูกมาด้วย แกก็ชี้ด้วยความมั่นให้ไปทางถนนด้านหน้าที่มีรถเมล์ผ่าน ผมกล่าวขอบคุณอีกครั้ง เห็นป้ายบอกทางว่า Shijingshan ย้ำว่าไม่ผิดทางแน่นอน เพราะเป็นเขตที่พำนักของผม

แต่...แต่...แต่เป็นทางด่วนอีกแล้วครับ

ไม่ผิด...แต่ก็ไม่ถูก สงสัยว่าต่อไปผมต้องหารถยนต์มาขับซะแล้ว จะได้ใช้ทางด่วนได้

เมื่อไปไม่ได้ ผมก็เลยวนกลับมาที่หน้าประตูหว่านปิงอีกรอบ แวะถามคนขายบัตร "ปาเป่าชานไปทางไหนครับ" เธอก็ชี้ว่าให้ขี่รอดทางรถไฟไป ซึ่งก็พบว่าเป็นถนนลูกรังที่ขนานไปกับทางด่วน ในใจผมนึกว่ายังไงเส้นทางนี้ก็ไม่ผิดแน่นอน หรือถึงจะผิดก็วนกลับมาใหม่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็เหมาแท็กซี่กลับเอา

ผมเร่งปั่นเต็มฝีเท้า เพราะแสงใกล้จะหมดเต็มที่แล้ว เมื่อลอดทางด่วนไปอีกด้านหนึ่งตามที่ถนนบังคับ ปรากฏว่าเส้นทางนี้ขนานไปกับทางด่วนและริมแม่น้ำย่งติงซึ่งมีแต่หญ้าขึ้นเต็มไปหมด ถนนบางช่วงก็ลาดยาง บางช่วงก็ขุรขระ เพราะนานๆ จะมีรถบรรทุกผ่านมาสร้างม่านฝุ่นให้คลุ้งไปทั่ว บางช่วงก็มีจักรยานสวนมา แต่ส่วนใหญ่จะว่างโล่งราวกับว่าผมปั่นอยู่บนถนนคนเดียว ความมืดก็ยิ่งทวีขึ้น เส้นทางก็ร้างผู้คน ใจนึกถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อาจถูกปล้น ยางรถอาจแตก อาจถูกแกล้ง คิดไปต่างๆ นานา ระหว่างใจลอยอยู่นั่นก็ต้องเบรกตัวโก่ง เพราะเส้นทางถูกกั้นด้วยท่อปูนขนาดใหญ่ มีช่องเว้นเป็นทางรถ แต่ก็เป็นเส้นทางสำรถที่ออกมาจากทางด่วน

ผมยืนคร่อมจักรยานด้วยความท้อใจ นึกโทษตัวเองที่สื่อสารไม่รู้เรื่องทำให้ต้องมาหลงอยู่ทางเปลี่ยวและมืดค่ำเช่นนี้ ทำให้ใจห่อเหี่ยวจนแรงหดหาย ระหว่างความท้อแท้รุมเร้า ก็มีรถแล่นออกมาจากทางด่วนตรงช่องนั้น สายตาคนในรถมองผมอย่างสงสัย ยิ่งทำให้ขี้ขึ้นหัวมากยิ่งขึ้น ในสมองต่อสู้กันมากมายทั้งความกลัว โทษตัวเอง ทั้งเรื่องที่คิดเกินไปมากมาย ทางรอดสุดท้ายของผมในวันนั้นที่คิดได้คือ เข้าไปในทางด่วน และโบกรถสักคัน ซึ่งน่าจะมีคนใจดี ไปส่งลงที่ที่มีคนอยู่มากกว่านี้

ระหว่างความสับสนรุมเร้าอยู่นั้น ก็มีจักรยานคันหนึ่งแล่นฝ่าฝุ่นที่รถยนต์คันนั้นทิ้งไว้ มุ่งหน้ามาทางผม เขาสะพายเป้ไว้บนหลัง จักรยานที่ใช้เป็นยี่ห้อดัง มีเกียร์ครบสูตร ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมามาก เพราะพี่คนนี้น่าจะเป็นนักปั่นจักรยานเช่นกัน และน่าจะรู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี

ผมรวบรวมความกล้าเข็นรถออกไปยังข้างทางรอจังหวะพอเขามาใกล้จึงโบกให้จอด แล้วตะโกนถามเขาไปว่า "เป่ยจิง" แล้วชี้มือไปทางที่มีท่อขวางอยู่

เขาทำหน้างง ทวนคำผมเบาๆ แล้วก็พูดออกมาว่า "เป่ยจิง เยส" แล้วชี้มือไปในทางทิศเดียวกับผม

ครับสุดท้ายผมก็กลับมาถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ และด้วยสัญชาตญาณเอาตัวรอดสุดท้าย ในเมื่อถามใครว่า "ปาเป่าชาน" ไปทางไหนก็ไม่มีใครรู้ ก็ถามชื่อเมืองหลวงไปเลย เพราะยังไงก็ออกเสียงคำนี้ชัดแน่นอน

ขอบคุณเป่ยจิง ขอบคุณคนเป่ยจิง

ผมกับผมพัลลภ สามสี และสถานีต่อไปได้สัปดาห์หน้าครับ