China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2009-11-03 18:24:40    
ศิลปะการละเล่นโคงจู๋ของหวาง กุ้ยฉิน
รายการวัฒนธรรมจีน

cri

โคงจู๋ ที่คนไทยเรียกว่า "ลูกหึ่ง" นั้นเป็นศิลปะการละเล่นพื้นบ้านในสวนศิลปะวัฒนธรรมจีน เป็นกีฬาพื้นบ้านดั้งเดิมที่แพร่หลาย 1 ใน 3 ของจีนทัดเทียมกับการเล่นว่าวและการเตะลูกขนไก่ ในอดีตเป็นการแสดงที่สำคัญในงานวัด ปัจจุบันเป็นการแสดงกายกรรมที่ขาดไม่ได้ เป็นเวลาช้านานมาแล้ว ลูกหึ่งเป็นการละเล่นยอดนิยมตามตรอกซอกซอยในกรุงปักกิ่ง นางหวาง กุ้ยฉินนักแสดงลูกหึ่งชาวปักกิ่งได้ผสมผสานการละเล่นนี้เข้ากับงิ้วปักกิ่ง เพิ่มการร่ายรำและดนตรีเข้าไปในการแสดงลูกหึ่ง และได้รับ "รางวัลประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส" ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของการแข่งขันกายกรรมนานาชาติระดับโลกเมื่อปี 2005 รายการวันนี้ ขอเสนอเรื่อง ศิลปะการละเล่นลูกหึ่งของหวางกุ้ยฉินค่ะ

ลูกหึ่งมีชื่อเรียกอีกหลายอย่างอาทิ กริ่งปฐพี ระฆังอากาศ น้ำเต้าลม และวัวเก่า เป็นต้นแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่ ลูกหึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ที่ปลายข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างจะติดตลับกลมที่เจาะรูเล็ก ๆ ล้อมรอบไว้หลายรู เวลาเล่นใช้เชือกชักกระบอกไม้ไผ่ขึ้นลง ตลับกลมนั้นก็จะหมุนอย่างรวดเร็วและส่งเสียงดังหึ่ง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อว่า "ลูกหึ่ง" ลูกหึ่งมีน้ำหนัก 200 - 300 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร นอกจากทำด้วยไม้ไผ่แล้ว ปัจจุบันยังมีลูกหึ่งที่ทำด้วยพลาสติกและยางด้วย ด้วยการพัฒนาของบรรดาช่างและผู้ที่นิยม ลูกหึ่งกลายเป็นศิลปะหัตถกรรมที่ผู้คนนิยมสะสมกันด้วย

ฝีมือและทักษะการเล่นลูกหึ่งมีหลากหลายลีลากว่า 100 รูปแบบ การเล่นลูกหึ่งแบ่งเป็นประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทกลุ่ม รูปแบบการเล่น มีทั้งการเล่นด้านจากหน้า ด้านหลังและการผสมท่าไปมา คนเล่นจะใช้มือดึง สั่น โยน รับ หมุน และยกเส้นเชือกที่คล้องอยู่กับลูกหึ่งไปพลาง และต้องเดิน เต้น ถีบ หรือตบเท้าไปพลาง ตาก็ต้องจับจ้องติดตามการเคลื่อนไหวของลูกหึ่ง ผู้เล่นต้องไหวพริบ ฉับไว และประสานกัน

ที่ห้องฝึกซ้อมของคณะกายกรรมแห่งชาติจีน ผู้สื่อข่าวได้พบเห็นหญิงสาวกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นลูกหึ่งอยู่ พวกเธอบังคับให้ลูกหึ่งบินขึ้นลงตามทิศทางต่าง ๆ อย่างชำนาญ พร้อม ๆ กับลีลาการเล่นที่ยาก ๆ ในกลุ่มนักแสดงหญิงเหล่านี้ มีคุณยายผู้หนึ่งกำลังให้คำแนะนำอยู่ข้าง ๆ คุณยายผู้นี้ชื่อ "หวาง กุ้ยฉิน"เป็นผู้สืบทอดศิลปะการละเล่นลูกหึ่งแห่งตระกูลหวาง

หวาง กุ้ยฉิน เกิดในครอบครัวที่ยึดอาชีพแสดงการเล่นลูกหึ่งในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1941 เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว สมัยก่อน นักแสดงพื้นเมืองนิยมไปจัดการแสดงที่แถวเทียนเฉียว ทางใต้ของกรุงปักกิ่ง หวาง อวี่เถียน พ่อของหวาง กุ้ยฉินเป็นนักแสดงลูกหึ่งที่มีชื่อเสียง ลีลาการแสดงของเขาอ่อนช้อย และฉับไว

นักแสดงหญิงที่กำลังฝึกเล่นลูกหึ่งอยู่นั้น ชวนให้หวาง กุ้ยฉินหวนนึกถึงวันเวลาที่เธอและพี่สาว 3 คน ติดตามพ่อไปทำการแสดงที่แถวเทียนเฉียว "ช่วงที่ครอบครัวเราไปจัดแสดงที่แถวเทียนเฉียวลำบากมาก สถานที่จัดการแสดงของเราไม่มีฉากม่านปิดกั้น ใช้ม้านั่งจัดเป็นวงกลมล้อมรอบที่เราจะแสดง เวลาเริ่มการแสดง เราพยายามเล่นลูกหึ่งให้มีเสียงดังกึกก้องอย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม พอแสดงพักหนึ่ง ดิฉันต้องยกจานไปขอเรี่ยรายเงิน บางคนให้มากบางคนให้น้อย ถ้าฝนตกหรือลมแรง เราก็จะไม่มีรายได้ ลำบากจนยากจะลืมเลือนได้"

นางหวาง กุ้ยฉินเล่าให้ฟังว่า แม้ว่าพ่อของเธอจะเล่นลูกหึ่งเก่ง แต่การแสดงตามถนนมีรายได้น้อยมาก ตอนเด็ก ๆ ดิฉันต้องอดอยากเป็นประจำ "วอวอโถ" ที่ทำด้วยแป้งข้าวโพดเป็นอาหารอร่อยที่สุดในความทรงจำตอนเด็กของดิฉัน

หลังจากจีนใหม่สถาปนาขึ้น นักแสดงแถวเทียนเฉียวได้รับความสนใจจากรัฐบาล พอคณะกายกรรมแห่งชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1951 พี่สาว 3 คนของหวาง กุ้ยฉินต่างได้เข้าร่วม ส่วนหวาง กุ้ยฉินวัย 10 กว่าปีได้เข้าเรียนในคณะศิลปะของกองทัพ ทั้งเรียนหนังสือ และฝึกเล่นกายกรรมไปพร้อมกัน หวาง กุ้ยฉินรู้สึกว่าฝีมือการแสดงที่เรียนรู้จากพ่อยังไม่เพียงพอ ต้องพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการเล่นใหม่ ๆ เพิ่มเติม เธอจึงทดลองผสมผสานการตีลังกาเข้าไปในการแสดงลูกหึ่ง และฝึกเล่นลูกหึ่ง 3 ลูกตามลำพัง "เมื่อฝึกเล่นลูกหึ่งมานานแล้ว ดิฉันก็ทดลองเพิ่มลีลาการเล่นใหม่ ๆ เข้าไป เพราะคิดว่า รุ่นพี่ไม่มีทางที่จะเล่นลูกหึ่งด้วยการตีรังกาได้ ตอนที่ฝึกเล่นลูกหึ่ง 3 ลูกพร้อมกันนั้น ดิฉันยังจำได้ว่า ภายในเวลา 20 วัน ดิฉันทำลูกหึ่งแตกไป 40 ลูก"

ด้วยความรักในศิลปะการเล่นลูกหึ่ง ฝีมือการแสดงของหวาง กุ้ยฉินจึงพัฒนาจนเก่งกว่าพ่อของเธอ การแสดงของเธอถูกนำเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง "ลิงโลด" ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับกายกรรมเรื่องแรกของจีน "ดิฉันเห็นว่าการยืนเล่นลูกหึ่งอย่างเดียวค่อนข้างธรรมดาเกินไป จึงริเริ่มผสมผสานการร้องรำทำเพลงเข้าไปในการแสดง รายการ "นิวนิวผู้เล่นลูกหึ่ง" ที่หวาง กุ้ยฉินรังสรรค์ขึ้นนั้นได้รับ "รางวัลทางการปารีส" ซึ่งเป็นรางวัลที่หนึ่งของการแข่งขันกลุ่มเด็กในเทศกาลกายกรรมนานาชาติทูมอโร่ว์ปารีสที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี1995

สามีของหวาง กุ้ยฉินเป็นนักแสดงงิ้วปักกิ่ง สามีภรรยาคู่นี้ร่วมกันรังสรรค์รายการแสดงชื่อ "เชี่ยวหวาตั้นเล่นลูกหึ่ง" ขึ้นตอนที่หวาง กุ้ยฉินมีอายุครบ 60 ปีพอดี ด้วยการแสดงอันสุดยอด และเสื้อผ้าที่สวยงาม รวมทั้งฉากที่อลังการ รายการนี้จึงได้รับรางวัลทั้งภายในประเทศและได้รับรางวัลประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสในเทศกาลกายกรรมนานาชาติทูมอโร่ว์ปารีสที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2005 หวาง กุ้ยฉินรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง "มีคนบอกว่า ลูกหึ่งเล็ก ๆ นี้สามารถประลองและเอาชนะการแสดงขนาดใหญ่ ๆ ของฝรั่งได้เช่น กระดานหกและการแสดงกลางอากาศ จนสามารถคว้ารางวัลอันดับหนึ่งมาครองได้ ผู้ชมยังชมว่า รายการนี้ไม่ใช่กายกรรมธรรมดา แต่เป็นศิลปะประยุกต์ต่างหาก"

ทุกวันนี้ หวาง กุ้ยฉินยังคงไปสอนการเล่นลูกหึ่งตามโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ เพราะเธอเห็นว่า ลูกหึ่งไม่เพียงแต่เป็นความใฝ่ฝันของคุณพ่อเท่านั้น หากยังเป็นความสุขที่เธอใฝ่หามาโดยตลอดด้วย