เหตุผลที่จีนเอาชนะสงครามขจัดความยากจน : อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาความยากจนจีนเล่าเรื่องการขจัดความยากจน (ตอนที่ 4)

2021-04-01 08:48:57 | CMG
Share with:

นายหลิว หย่งฟู่ เกิดปี ค.ศ. 1957 เคยผ่านช่วงเวลาแร้นแค้นและขาดแคลนปัจจัยดำรงชีวิตอย่างหนักในช่วงเริ่มแรกหลังการสถาปนาจีนใหม่ เขาเคยทำงานในหน่วยงานรัฐทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและประกันสังคม รวมถึงรองผู้ว่าการมณฑลกานซู่ และต่อมาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาความยากจนแห่งคณะรัฐมนตรีจีน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในภารกิจบรรเทาความยากจนมากที่สุดคนหนึ่ง นายหลิว หย่งฟู่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยเล่าถึงการขจัดความยากจนของจีนในมุมมองของเขาอย่างครอบคลุม

เหตุผลที่จีนเอาชนะสงครามขจัดความยากจน : อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาความยากจนจีนเล่าเรื่องการขจัดความยากจน (ตอนที่ 4)_fororder_20210401lyf1

นายหลิว หย่งฟู่ กล่าวถึงเหตุผลที่จีนเอาชนะสงครามต่อสู้กับความยากจน

ชัยชนะเหนือสงครามต่อสู้กับความยากจนถือเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ในความเหนือกว่าที่โดดเด่นด้านระบบประเทศและระบบการปกครองของจีน การแก้ปัญหา “สองหมดห่วงและสามหลักประกัน” (สองหมดห่วง หมายถึง ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารการกินและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสามหลักประกัน หมายถึง หลักประกันด้านการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัย) เป็นเรื่องที่ทุกยุคทุกสมัยในอดีตไม่สามารถทำได้สำเร็จ ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำได้สำเร็จ นอกจากนี้จีนยังประสบผลสำเร็จเชิงสัญลักษณ์และแนวโน้มบางประการ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม และความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

แต่เดิมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระดับต่าง ๆ มักนิยมขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการต้นสังกัด เช่น ผู้ใหญ่บ้านไปรายงานสภาพความยากลำบากกับเทศบาลตำบลเพื่อขอค่าครองชีพขั้นพื้นฐานแก่ครอบครัวยากจนสุดขีดในหมู่บ้านของตัวเอง กำนันไปขอเงินสนับสนุนจากเทศบาลอำเภอ ส่วนนายอำเภอมักจะไปขอ “โครงการพัฒนา” กับรัฐบาลมณฑล แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ต่างเปลี่ยนมาลงพื้นที่สู่ระดับล่างแทน เลขาธิการใหญ่ สี จิ้นผิงเคยลงพื้นที่กว่า 50 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้านยากจนกว่า 20 แห่ง บรรดาเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลต่างก็พากันลงพื้นที่หมู่บ้านและครอบครัวชาวนาเช่นกัน ภายใต้การนำของปธน.สี จิ้นผิง เจ้าหน้าที่ผู้นำระดับต่าง ๆ ของจีนสร้างความผูกพันฉันร่วมสายเลือดกับประชาชน หลอมรวมระดับบนและล่างเข้าด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ระดับล่างเท่านั้น เงินทุนยังได้รับการจัดสรรลงสู่รากหญ้าเช่นกัน แต่ละปีเงินบรรเทาความยากจนมีมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน เมื่อกำหนดแผนงานลงตัวและสำนักงานการคลังแห่งชาติเบิกจ่ายเงิน งบประมาณจะถึงมณฑลอย่างรวดเร็วและเข้าถึงอำเภอได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน จากนั้นทางอำเภอจะกำหนดรายการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบรรเทาความยากจนที่มีความสำคัญและเร่งด่วนที่สุด วิธีการบริหารจัดการทุกวันนี้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เราได้สร้างคลังโครงการบรรเทาความยากจนก่อนจัดสรรเงินทุนลงพื้นที่ เราได้ออกแบบโครงการต่าง ๆ ตามลำดับไว้ล่วงหน้า เมื่อเงินมาถึงก็สามารถปฏิบัติตามแผนงานอย่างเป็นขั้นตอนได้ทันที “โครงการรอเงิน” ถือว่าถูกหลักวิทยาศาสตร์กว่าเดิม เพราะโครงการได้ผ่านการพิจารณาทบทวนมาหลายครั้ง ทั้งยังผ่านการประเมินความเป็นไปได้แล้วด้วย ฉะนั้นเมื่อเงินมาถึงก็สามารถลงมือดำเนินการได้ด้วยความมั่นใจและราบรื่น

ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง จีนประสบ “ชัยชนะคู่” ทั้งการป้องกันควบคุมโควิด-19 และสงครามต่อสู้กับความยากจน ทั้งนี้บ่งบอกถึงความได้เปรียบอย่างชัดเจนของจีนด้านระบบประเทศและระบบการปกครองอย่างเต็มที่ ส่วนที่สำคัญ คือ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้มาตรการ 3 ประการ

ประการแรก “การแขวนป้ายชื่อผู้บัญชาการรบ” (หมายถึงกำหนดผู้รับชิดชอบและภาระหน้าที่การบรรเทาความยากจนอย่างชัดเจน) ตามความต้องการของปธน.สี จิ้นผิง จีนได้ใช้มาตรการนี้ใน 1,113 หมู่บ้านยากจน จาก 2,707 หมู่บ้านใน 52 อำเภอที่ยังไม่ได้รับการปลดชื่อออกจากบัญชียากจน โดยภาครัฐได้รวมศูนย์ทรัพยากรและทุ่มเทมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขอุปสรรคและความยากลำบากเพื่อขจัดความยากจน “การแขวนป้ายชื่อผู้บัญชาการรบ” ได้รับการสนับสนุนจากแวดวงต่าง ๆ ของสังคม โดยมีกว่า 2,000 วิสาหกิจภาคเอกชนและองค์กรทางสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมใน “การแขวนป้ายชื่อผู้บัญชาการรบ” ช่วยให้แต่ละหมู่บ้านมีงบประมาณบรรเทาความยากไร้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยหมู่บ้านละ 50,000 หยวน ตลอดจนได้ตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง

ประการที่สอง ส่งเสริมการหางานทำในต่างถิ่น การทำงานถือเป็นวิธีหลุดพ้นความยากจนที่เห็นผลได้เร็วที่สุดและยั่งยืน รายได้จากการทำงานเป็นแหล่งที่มาหลักของรายได้ในประชากรยากจน จีนได้ให้การสนับสนุนเชิงนโยบายแก่ประชากรที่ขึ้นทะเบียนผู้ยากจนในการเดินทางไปหางานทำในต่างถิ่น เช่น สนับสนุนค่าเดินทางและเปิดคอร์สอบรมฟรี เป็นต้น เพื่อแนะนำและให้กำลังใจแก่ผู้ยากจนให้แสวงหาความมั่งคั่งผ่านการทำงานด้วยวิธีต่าง  ๆ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 จีนได้ใช้มาตรการรับแรงงานจากบ้านและส่งถึงสถานที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูการทำงานรวมทั้งการผลิตด้วยความสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น หากยังตอบสนองความต้องการด้านแรงงานและการฟื้นฟูการผลิตด้วย

ประการที่สาม การยกระดับการบรรเทาความยากไร้ผ่านการบริโภคโดยระดมพื้นที่ภาคตะวันออก เมือง หน่วยงานราชการ และวิสาหกิจให้รับซื้อ “สินค้าบรรเทาความยากจน” รูปแบบนี้ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับแต่ก่อนที่ระดมให้บริจาคเสื้อผ้าและผ้าห่ม เพราะสินค้าที่ภาครัฐส่งเสริมให้ประชากรยากไร้ผลิตนั้น หากไม่สามารถขายออกได้ ในที่สุดพวกเขาจะรู้สึกเสียใจและหมดความมั่นใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การโค่นไม้ผลหรือรื้อโรงเรือนปลูกผัก ทำให้ชีวิตของพวกเขาทวีความลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณภาพสินค้าของพวกเขาก็ไม่เลวซึ่งชาวเมืองต้องการบริโภคสินค้าเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซื้อกับใครก็ไม่ได้แตกต่างอะไร อีกทั้งสภาพแวดล้อมในพื้นที่ยากจนโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตทางการเกษตรจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย รับประทานแล้วสบายใจ แถมยังสร้างคุณูปการแก่ภารกิจบรรเทาความยากจนได้ด้วย ผู้คนทั้งหลายจึงยินดีให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ด้วยความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วน ปัจจุบันไม่มีปัญหาผลผลิตของประชากรยากจนขายไม่ได้อีกเลย

การร่วมมือกันบรรเทาความยากจนระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตกถือเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมของความเหนือกว่าแห่งระบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนเช่นกัน จีนเริ่มใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 เวลานั้นมณฑลฝูเจี้ยน หรือ ฮกเกี้ยน ช่วยเหลือเขตปกครองตนเองชนเผ่าหุยหนิงเซี่ย นายสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยน ขณะเดียวกันยังควบตำแหน่งหัวหน้าทีมนำภารกิจช่วยเหลือเขตหนิงเซี่ยแก้ไขปัญหาความยากจนของมณฑลฝูเจี้ยนด้วย เขานำทีมงานไปช่วยบรรเทาความยากจนที่เขตหนิงเซี่ยด้วยตนเอง ผลักดันการสร้างกลไกความร่วมมือแบบ “ร่วมกันขับเคลื่อน จับคู่ช่วยบรรเทาความยากจน แก้ไขปัญหาความยากไร้ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรม เรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังคมมีส่วนร่วม” ด้วยความสำเร็จ หลังจากนั้นไม่นาน “หมู่บ้านหมิ่นหนิง” หรือ “หมู่บ้านฝูเจี้ยนหนิงเซี่ย” ในอำเภอหย่งหนิง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ก็ได้เริ่มการก่อสร้างเพื่อรองรับผู้อพยพจากบ้านเดิมที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไม่เอื้อต่อการยังชีพ หลายปีมานี้แม้ผู้นำมณฑลฝูเจี้ยนและเขตหนิงเซี่ยเปลี่ยนมาแล้วหลายรุ่น แต่มณฑลฝูเจี้ยนและเขตหนิงเซี่ยยังคงร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจบรรเทาความยากจนตามกลไก 5 ประการที่สร้างขึ้น ด้วยการผลักดันของนายสี จิ้นผิงในเวลานั้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจึงเกิดผลลัพธ์ที่ดี ทั้งยังได้ลงลึกปรับปรุงกลไกความร่วมมือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของเขตหนิงเซี่ย โดยเฉพาะพื้นที่เขตซีไห่กู้อย่างทรงพลัง อีกทั้งช่วยส่งเสริมความสามัคคีกันระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ในเขตหนิงเซี่ยด้วย ซึ่งถือเป็นการเขียนบทใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตกเพื่อบรรเทาความยากจน เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 ปธน.สี จิ้นผิงเดินทางลงพื้นที่ตรวจงานที่เขตหนิงเซี่ย พร้อมเป็นประธานการประชุมสัมมนาว่าด้วยความร่วมมือบรรเทาความยากจนระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตก นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างฝูเจี้ยนกับหนิงเซี่ยเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและมีชีวิตชีวาแห่งการจับคู่ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือบรรเทาความยากจนระหว่างภาคตะวันออกกับตะวันตก”

สำหรับ “เขตหนานเจียง” หรือ “พื้นที่ทางใต้ของเขตซินเจียง” นั้น หากเคยไปครั้งสุดท้ายเมื่อ 5 ปีก่อนและไปอีกครั้งในเวลานี้คงจะไม่คุ้นเคยอย่างแน่นอน เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่นั่นนับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เป็นต้นมานั้น เทียบเคียงได้กับความเปลี่ยนแปลงโดยรวมในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อก่อนเขตหนานเจียงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมสมัยใหม่แล้ว ใครทำให้เป็นเช่นนี้? คำตอบคือ มาจากการบูรณาการและระดมทรัพยากรจากภาคตะวันออกของรัฐบาลกลาง โดยมี 17 มณฑลและนครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางให้ความช่วยเหลือแก่เขตซินเจียง ตลอดจนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตหนานเจียง ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสิ่งทอ ร้องเท้าและหมวก รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ในเขตซินเจียงต่างมีเครื่องมือทันสมัยที่สุด ชีวิตชาวบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บ้านพักชนบทในเขตหนานเจียงมีขนาดใหญ่ สะอาด และสวยงาม ลำพังการพัฒนาเศรษฐกิจในสวนหลังบ้าน (Courtyard Economy) แต่ละครอบครัวก็สามารถทำรายได้เพิ่มหลายพันหยวนต่อปี

จีนระดมทุกภาคส่วนทั่วประเทศให้มีส่วนร่วมในภารกิจบรรเทาความยากจนทั้งยังบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพด้วย ภาคตะวันออกของจีนดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความยากจนด้วยความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ บางครั้ง “ใจร้อน” ยิ่งกว่าภาคตะวันตกในการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือฯ พวกเขาถือภารกิจแก้ไขปัญหาความยากจนของภาคตะวันตกเป็นเรื่องของตัวเอง ผู้คนทั้งหลายต่างก็ตอบสนองความต้องการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างก็ตอบสนองความต้องการของปธน.สี จิ้นผิง นี่คือความเหนือกว่าของระบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนโดยแท้

TIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

陆永江