ขงจื่อ ชื่อ ชิว สมญานาม จ้งนี เป็นชาวชีว์ฟู่ มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน อยู่ในยุคชุนชิว(770 – 476 ปีก่อนค.ศ.) ขงจื่อเป็นนักปรัชญา นักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาขงจื่อ คำสอนและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขาถูกสาวกและลูกศิษย์นำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “หลุนอี่ว์” ขงจื่อเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของชาวจีนสมัยโบราณ
“หลุนอี่ว์” ในฐานะเป็นนิพนธ์ชั้นเลิศทางวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลต่อนักปรัชญา นักเขียน และนักการเมืองจีนกว่า 2,000 ปีกล่าวได้ว่าหากไม่ได้ศึกษา “หลุนอี่ว์” ก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน หรือ จิตใจด้านลึกของชาวจีน
ก่อนสมัยขงจื่อ มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับการศึกษา ขงจื่อเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ริเริ่มให้มีการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ขงจื่อเป็นครูสอนหนังสือเป็นเวลาหลายปี มีลูกศิษย์กว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้ มีลูกศิษย์ 72 คนที่มีความชำนาญในศิลปะ 6 อย่าง ได้แก่ พิธีกรรม ดนตรี ยิงธนู ขับรถ อักษรวิจิตร และคณิตศาสตร์ ขงจื่อในฐานะนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนรุ่นหลังว่า เป็น “มหาปราชญ์”
ขงจื่อเห็นว่า เป้าหมายพื้นฐานของการศึกษาคือ ฝึกฝนบุคคลให้มีคุณธรรม มีบุคลิกภาพที่ดี และมีจิตใจอันสูงส่ง บุคคลเช่นนี้จึงสามารถแบกรับภารกิจสำคัญทางสังคม และสร้างคุณูปการสำคัญให้แก่สังคม ขงจื่อยึดหลักการศึกษาว่า ลูกศิษย์ต้องมีอุดมคติสูงส่ง มีคุณธรรมยิ่งใหญ่ และรักคนทั่วไป รวมทั้งต้องมีการเรียนรู้พิธีกรรม ดนตรี ยิงธนู ขับรถ อักษร วิจิตร และคณิตศาสตร์ ในหลักการดังกล่าว คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ลูกศิษย์ของขงจื่อได้ประกอบอาชีพด้านต่างๆ เช่น การเมือง การค้า การศึกษา การทูต การประกอบพิธีด้านศาสนา และการเรียบเรียงหนังสือโบราณ ไม่ว่าพวกเขาประกอบอาชีพอะไร สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือ มุ่งมั่นในการเรียนรู้มนุษยศาสตร์ และยกระดับคุณธรรมของตนให้สูงขึ้น
ขงจื่อเน้นความสำคัญของการศึกษาสุนทรียศาสตร์ เขากล่าวว่า การศึกษาเรียนรู้หนังสือ “ซือจิง” หรือหนังสือเกี่ยวกับเพลงจะช่วยกระตุ้นจิตวิญญาณอันสูงส่ง และทำให้คนเราชื่นชอบสิ่งที่ดีงาม การศึกษาเรียนรู้หนังสือ “หลี่” หรือหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรมจะช่วยให้คนเรามีพฤติกรรมถูกต้องตามกฎระเบียบ การศึกษาเรียนรู้ดนตรีจะช่วยให้คนเรามีจิตวิญญาณที่สูงส่งยิ่งขึ้น และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น เขายังกล่าวด้วยว่า เพียงรู้ว่าอะไรเป็นคุณธรรมอันสูงส่งไม่เพียงพอ เราต้องพยายามเข้าถึงคุณธรรมอันสูงส่งด้วย เพียงตั้งเป้าหมายจะเข้าถึงคุณธรรมอันสูงส่งไม่เพียงพอ เราต้องรู้สึกถึงความสุขจากการเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมอันสูงส่งด้วย
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขงจื่อถามลูกศิษย์หลายคนถึงปณิธานของพวกเขา จื่อลู่ และหรันโหย่ว ตอบว่า อยากมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ กงซุ่นชื่อ ว่า อยากเป็นเจ้าหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ส่วนเจิงเตี่ยน บอกว่า ปณิธานของเขาแตกต่างจากคนอื่น ขงจื่อจึงบอกเขาว่า ไม่เป็นไร เราเพียงมาพูดคุยในปณิธานของแต่ละคนเท่านั้น เจิงเตี่ยนจึงบอกต่อไปว่า ความฝันของเขาคือ ปลายฤดูใบไม้ผลิ ได้ใส่ชุดสบายๆ ไปว่ายน้ำกับผู้ใหญ่ 5 - 6 คน และเด็ก 6 - 7 คนในแม่น้ำอี๋ รับลมที่โชยมาในสถานที่ขอฝน จากนั้น จะเดินทางกลับบ้าน โดยร้องเพลงตลอดเส้นทาง
ขงจื่ออุทานว่า ขอแบ่งปันปณิธานกับเจิงเตี่ยน
ปณิธานที่แตกต่างกันของลูกศิษย์ 4 คนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันของพวกเขา การที่ขงจื่อเห็นด้วยกับปณิธานของเจิงเตี่ยนนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้ขงจื่อเน้นตลอดว่า คนเราจะต้องสร้างคุณูปการแก่สังคม แต่ในขณะเดียวกัน เขาเห็นว่า สภาวะที่ดีงามที่สุดของชีวิตควรจะมีความกลมกลืนระหว่างคนกับคน และความกลมกลืนระหว่างคนกับธรรมชาติ
ภายใต้อิทธิพลของขงจื่อ นักปรัชญาจีนรุ่นต่อๆไปล้วนเชื่อว่า ผู้รับการศึกษาและนักวิชาการไม่เพียงแต่ต้องเพิ่มเติมความรู้ของตนเอง หากยังต้องฝึกฝนตนเองให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง ต้องแสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตให้มากยิ่งขึ้น นักวิชาการสมัยปัจจุบันจำนวนไม่น้อยเห็นว่า แนวความคิดของขงจื่อเกี่ยวกับทัศนคติในชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในปรัชญาจีน และสิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากขงจื่อ
(yim/cai)